drt

ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ระบบการให้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทาง Demand Responsive Transport (DRT) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานและการให้บริการขนส่งในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการดำเนินงานอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ กฎหมายในการรองรับการให้บริการ รวมถึง การเจาะกลุ่มเป้าหมายการให้บริการขนส่งที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอุปสรรคด้านการเดินทาง (Low mobility) อย่างไรก็ตาม การเดินทางเพื่อมารับบริการของผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายและจิตใจตามวัย ผู้สูงอายุบางคนมีโรคประจำตัวและมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองหรือครอบครัวได้ ทำให้มีความต้องการการดูแลในด้านการเดินทางมาใช้บริการด้านสุขภาพที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพมากกว่าบุคคลปกติ ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ความปลอดภัยในการให้บริการ ความถี่ในการใช้บริการ และการเรียกใช้บริการรถสาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า หน่วยงานหลักในระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสนใจลำดับต้น ๆ คือ เรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ก็มีการดำเนินการตามวาระโอกาส เช่น การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งยังขาดการจัดระบบและช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุอยู่อีกมาก

จากปัญหาสุขภาพคนไทยและระบบบริการสาธารณะสุข เมื่อสังคมก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีผลให้มีค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่นอกชุมชนเมือง หรือนอกเขตเทศบาล ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงตามไปด้วย และเนื่องจากประเทศไทยไม่มีระบบผังเมืองและ ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ประชาชนจึงต้องใช้บริการเดินทางด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น รถรับจ้างสาธารณะ หรือจำเป็นต้องพึ่งพาการเดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หรือเข้าถึงบริการได้ยาก

ทั้งนี้ ในโครงการนี้จะพิจารณาถึงการให้บริการระบบ DRT ซึ่ง “ไม่ได้กำหนดเวลาในการให้บริการแบบคงที่ และไม่ประจำเส้นทาง” ในบางครั้งอาจสามารถตอบสนองความต้องการที่พิเศษโดยรถอาจจะไปรับผู้โดยสาร (ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอุปสรรคด้านการเดินทาง) โดยมีจุดในการขึ้นรถที่ต่างกัน แต่สามารถเดินทางไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก โดยกำหนดให้มีแชร์ค่าโดยสารร่วมกัน หรืออาจได้รับสนับสนุนจากสวัสดิการภาครัฐ ซึ่งการใช้บริการจะใช้ประเภทรถในการให้บริการในขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิเช่น รถบัสขนาด 20 ที่นั่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบความต้องการเดินทางในพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงขึ้นอยู่กับความต้องการในการเดินทางแบบเฉพาะเจาะจง เช่น กรณีของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องการใช้รถเข็น เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของโครงการ

    • เพื่อให้บริการแพลตฟอร์ม Mobility as a service ในการเดินทางด้วยระบบ DRT ในพื้นที่
    • เพื่อให้บริการระบบ DRT เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางด้านสุขภาพและผู้สูงอายุในเขตพื้นที่เมือง ด้วยรถบัสไฟฟ้า ขนาด 20 ที่นั่ง ระหว่างที่พักอาศัยของผู้เดินทาง (ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอุปสรรคด้านการเดินทาง) ไปยัง โรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพ
    • เพื่อใช้เป็นโครงการต้นแบบในการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) และใช้ตัวอย่างในการจัดทำตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Impact Bond: SIB)

ผลลัพธ์ของโครงการ (Output)

    • ต้นแบบแพลตฟอร์มการให้บริการ Mobility as a service ในการเดินทางด้วยระบบ DRT ในพื้นที่
    • บริการขนส่งสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทาง (DRT) ด้านสุขภาพและผู้สูงอายุ ในพื้นที่ ด้วยรถบัสไฟฟ้า
    • รายงานผลประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA)
    • แนวทางในการจัดทำตราสารหนี้เพื่อสังคม (SIB) เพื่อนำไปใช้ในการขยายผลของโครงการให้เกิดความยั่งยืน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (Outcome)

    • การให้บริการระบบ DRT เพื่อรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม สำหรับ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอุปสรรคด้านการเดินทาง (Mobility for All)
    • แพลตฟอร์มการเดินทาง Mobility as a service สนับสนุน Green mobility โดยที่ผู้เดินทางใช้รถโดยสารร่วมกัน
    • การสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า Low carbon mobility
    • ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
    • เป็นต้นแบบการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม