Gut Bacteria

ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

ไม่กี่ปีที่ผ่าน ผลงานวิจัยจำนวนมากได้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในลำไส้ กับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน อย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้วิธีการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้พบว่า ผู้ที่มีแบคทีเรียในกลุ่ม Firmicutes มากกว่ากลุ่ม Bacteroidetes มีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในทางตรงข้าม ผู้ที่มีแบคทีเรียในกลุ่ม Bacteroidetes มาก จะส่งผลให้มีน้ำหนักตัวน้อย

แบคทีเรียในลำไส้ (Gut bacteria) มีทั้งชนิดดีที่ช่วยการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพดี โดยทั่วไปมักเรียกรวม ๆ ว่า โปรไบโอติกส์ (Probiotics) แบคทีเรียป้องกันโรค (Protective) หรือ แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ (Beneficial bacteria) และแบคทีเรียที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อให้เกิดโรค ซึ่งอาจเรียกว่า Harmful bacteria โดยทั่วไป แบคทีเรียในลำไส้ สามารถแบ่งตามโปรไฟล์ฟังก์ชันออกเป็น 6 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน

    1. Butyrate producing bacteria: ทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ รักษาระดับเมือกในผนังลำไส้ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันการติดเชื้อ และช่วยควบคุมกลไกการเผาผลาญพลังงาน
    2. Gut mucosa protective bacteria: เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในเมือกในผนังลำไส้ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันโรค และป้องกันการติดเชื้อ
    3. Gut health marker เป็นแบคทีเรียตัวหลัก ๆ ในลำไส้ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ หรือมีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพ อาทิเช่น Gut-brain axis, Gut-heart axis และ Gut-liver axis เป็นต้น
    4. Gut barrier protective เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ช่วยในการดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำหน้าเป็นกำแพงป้องกันแบคทีเรียก่อโรค และสร้างภูมิคุ้มในทางร่างกาย
    5. Pro-inflammatory เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่กระตุ้นการอักเสบ เร่งการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งหรือตีบตัน ซึ่งทำงานตรงกันข้ามกับ Anti-inflammatory bacteria กลุ่มแบคทีเรียที่ต้านการอักเสบ
    6. Diversity เป็นความสมดุลของกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ โดยใช้การวัดค่าดัชนีความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (Dysbiosis Index: DI)

แบคทีเรียในลำไส้ กับการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

Firmicutes และ Bacteroidetes เป็นกลุ่ม (Phylum) ของแบคทีเรียที่มีอยู่มากที่สุดในลำไส้ คิดเป็นร้อยละ 60 – 90 ของจำนวนแบคทีเรียในลำไส้ทั้งหมด (ประมาณ 100 พันล้านตัว) สัดส่วนของกลุ่มแบคทีเรีย Firmicutes ต่อ Bacteroidetes (F/B ratio) มาก จะกระตุ้นให้เกิดภาวะการอักเสบของหลอดเลือดแดง ร่างกายสามารถสร้างพลังงานจากอาหารได้มาก ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น สัดส่วนของสองกลุ่มแบคทีเรียดังกล่าว ใช้เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้ในการบ่งชี้ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีแบคทีเรีย Akkermansia Muciniphila และ Faecalibacterium Prausnitzii ที่อาศัยอยู่ที่เมือกในผนังลำไส้จำนวนมาก จะช่วยทำให้ผนังลำไส้มีความหนาและแข็งแรง ช่วยกำจัดสารพิษและป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและต้านการอักเสบ แบคทีเรียตัวดังกล่าว ยังช่วยให้ร่างกายย่อยน้ำตาลและไขมันได้อย่างมีสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดการสะสมของไขมันในร่างกาย ทำให้โอกาสการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลดลง

สังเกตด้วยว่า ผู้ที่มี F/B ratio น้อย แม้จะมีโอกาสการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนน้อย แต่ก็จะมีโอกาสในการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ตามมา ดังนั้น การมีแบคทีเรียในลำไส้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงส่งผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในกลุ่ม (Phylum) อื่น ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสัดส่วนแบคทีเรียในกลุ่ม F/B ด้วยเช่นกัน รวมทั้งสายพันธุ์ของแบคทีเรีย และส่วนผสม (Mixture) ของแบคทีเรีย ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้

สาเหตุของการขาดหายไปของแบคทีเรีย

ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (Dysbiosis) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดี โดยทั่วไป ปัญหาความไม่สมดุลของแบคทีเรียมักมีอาการบ่งชี้ทางร่างกาย อาทิเช่น เกิดลมในกระเพาะ ท้องอืด ปวดท้อง น้ำหนักขึ้นลงโดยไม่ได้เจตนา (Unintended weight fluctuations) ปัญหาผิวหนัง (สิว ผิวมัน รังแค ผิวหนังอักเสบ โรคกลาก สะเก็ดเงิน ผื่นคัน ภูมิแพ้เรื้อรัง แพ้อาหารทะเล/นม ตอนเริ่มมีอายุ) ปัญหาทางอารมณ์ เครียดง่าย ขาดสมาธิ เมื่อยล้า นอนไม่หลับ มีความอยากของหวาน และแก่กว่าวัย เป็นต้น สาเหตุของการเกิดความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ สามารถสรุปได้ดังนี้

    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่เพิ่มปริมาณ โปรตีน น้ำตาล และไขมัน
    • การได้รับสารเคมี สิ่งปนเปื้อนหรือวัตถุเจือปนอาหาร อาทิเช่น ยากำจัดศัตรูพืช สารปรุงแต่งรส สารถนอมอาหาร วัตถุกันเสีย
    • ดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
    • ยารักษาโรค หรือที่ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ อาทิเช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
    • การมีสุขภาพปากและฟันที่ไม่ดี
    • ความเครียด

การปรับสมดุลแบคทีเรียในร่างกายเพื่อส่หงเสริมสุขภาพดี

การรับประทานอาหารและทำกิจกรรมหลากหลาย เป็นช้อแนะนำที่ง่ายที่สุด การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยในการบ่งชี้ปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขและส่งเสริมสุขภาพได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ การขาดข้อมูลและความรู้ด้านสุขภาพแบบแม่นยำ (Precision health literacy) อาจจะเกิดผลเสีย หรือผลที่ไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคอาหารเสริมที่มีจุลินทรีย์บางสายพันธุ์ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ได้มากขึ้น หากผู้นั้นมีแบคทีเรียชนิดนั้น ๆ อยู่ในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมอยู่แล้ว

นอกจากแบคทีเรียชนิดดี (Probiotics) ซึ่งมีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น Lactobacillus Rhamnosus และ Bacillus Coagulans ช่วยย่อยแลคโตสและน้ำตาล Bifidobacterium ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรทและไฟเบอร์ (พบในอาหารหมักดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว) Streptococcus Thermophilus ช่วยย่อยโปรตีนและไขมัน (พบมากในนม ชีส โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์จากนม) อาหารสำหรับแบคทีเรีย (Prebiotics) ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน Prebiotics ได้มาจากแหล่งอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ทั้งไฟเบอร์ที่ละลายน้ำและที่ไม่ละลายน้ำ รวมทั้งแป้งที่ทนการย่อย (Resistant starch) Prebiotics เป็นแหล่งพลังงานและช่วยในการเจริญเติบโตช่วยให้ Probiotics แข็งแรงและมีปริมาณมากพอที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

โดยสรุป ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีความรุดหน้ามาก สามารถตรวจวินิจฉัยปริมาณแบคทีเรียชนิดดีและไม่ดีในร่างกายจากอุจจาระ หรือเมือกในผนังลำไส้ โดยเฉพาะอย่าง วิเคราะห์ความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ และความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียและการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหรือการส่งเสริมสุขภาพ โดยการเติมแบคทีเรียบางตัวเข้าไปร่างกายยังมีข้อจำกัด และอาจเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งแบคทีเรียที่เติมเข้าไป (โดยการบริโภคจุลินทรีย์สังเคราะห์ หรือการปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ) อาจจะถูกกลไกในร่างกายขับออกทั้งหมด หรือเข้าไปทำลายความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ และอาจก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

ที่มารูป : badgut.org