Gut Bacteria

ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

ไม่กี่ปีที่ผ่าน ผลงานวิจัยจำนวนมากได้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในลำไส้ กับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน อย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้วิธีการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้พบว่า ผู้ที่มีแบคทีเรียในกลุ่ม Firmicutes มากกว่ากลุ่ม Bacteroidetes มีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในทางตรงข้าม ผู้ที่มีแบคทีเรียในกลุ่ม Bacteroidetes มาก จะส่งผลให้มีน้ำหนักตัวน้อย

แบคทีเรียในลำไส้ (Gut bacteria) มีทั้งชนิดดีที่ช่วยการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพดี โดยทั่วไปมักเรียกรวม ๆ ว่า โปรไบโอติกส์ (Probiotics) แบคทีเรียป้องกันโรค (Protective) หรือ แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ (Beneficial bacteria) และแบคทีเรียที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อให้เกิดโรค ซึ่งอาจเรียกว่า Harmful bacteria โดยทั่วไป แบคทีเรียในลำไส้ สามารถแบ่งตามโปรไฟล์ฟังก์ชันออกเป็น 6 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน

    1. Butyrate producing bacteria: ทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ รักษาระดับเมือกในผนังลำไส้ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันการติดเชื้อ และช่วยควบคุมกลไกการเผาผลาญพลังงาน
    2. Gut mucosa protective bacteria: เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในเมือกในผนังลำไส้ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันโรค และป้องกันการติดเชื้อ
    3. Gut health marker เป็นแบคทีเรียตัวหลัก ๆ ในลำไส้ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ หรือมีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพ อาทิเช่น Gut-brain axis, Gut-heart axis และ Gut-liver axis เป็นต้น
    4. Gut barrier protective เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ช่วยในการดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำหน้าเป็นกำแพงป้องกันแบคทีเรียก่อโรค และสร้างภูมิคุ้มในทางร่างกาย
    5. Pro-inflammatory เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่กระตุ้นการอักเสบ เร่งการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งหรือตีบตัน ซึ่งทำงานตรงกันข้ามกับ Anti-inflammatory bacteria กลุ่มแบคทีเรียที่ต้านการอักเสบ
    6. Diversity เป็นความสมดุลของกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ โดยใช้การวัดค่าดัชนีความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (Dysbiosis Index: DI)

แบคทีเรียในลำไส้ กับการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

Firmicutes และ Bacteroidetes เป็นกลุ่ม (Phylum) ของแบคทีเรียที่มีอยู่มากที่สุดในลำไส้ คิดเป็นร้อยละ 60 – 90 ของจำนวนแบคทีเรียในลำไส้ทั้งหมด (ประมาณ 100 พันล้านตัว) สัดส่วนของกลุ่มแบคทีเรีย Firmicutes ต่อ Bacteroidetes (F/B ratio) มาก จะกระตุ้นให้เกิดภาวะการอักเสบของหลอดเลือดแดง ร่างกายสามารถสร้างพลังงานจากอาหารได้มาก ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น สัดส่วนของสองกลุ่มแบคทีเรียดังกล่าว ใช้เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้ในการบ่งชี้ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีแบคทีเรีย Akkermansia Muciniphila และ Faecalibacterium Prausnitzii ที่อาศัยอยู่ที่เมือกในผนังลำไส้จำนวนมาก จะช่วยทำให้ผนังลำไส้มีความหนาและแข็งแรง ช่วยกำจัดสารพิษและป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและต้านการอักเสบ แบคทีเรียตัวดังกล่าว ยังช่วยให้ร่างกายย่อยน้ำตาลและไขมันได้อย่างมีสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดการสะสมของไขมันในร่างกาย ทำให้โอกาสการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลดลง

สังเกตด้วยว่า ผู้ที่มี F/B ratio น้อย แม้จะมีโอกาสการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนน้อย แต่ก็จะมีโอกาสในการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ตามมา ดังนั้น การมีแบคทีเรียในลำไส้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงส่งผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในกลุ่ม (Phylum) อื่น ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสัดส่วนแบคทีเรียในกลุ่ม F/B ด้วยเช่นกัน รวมทั้งสายพันธุ์ของแบคทีเรีย และส่วนผสม (Mixture) ของแบคทีเรีย ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้

สาเหตุของการขาดหายไปของแบคทีเรีย

ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (Dysbiosis) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดี โดยทั่วไป ปัญหาความไม่สมดุลของแบคทีเรียมักมีอาการบ่งชี้ทางร่างกาย อาทิเช่น เกิดลมในกระเพาะ ท้องอืด ปวดท้อง น้ำหนักขึ้นลงโดยไม่ได้เจตนา (Unintended weight fluctuations) ปัญหาผิวหนัง (สิว ผิวมัน รังแค ผิวหนังอักเสบ โรคกลาก สะเก็ดเงิน ผื่นคัน ภูมิแพ้เรื้อรัง แพ้อาหารทะเล/นม ตอนเริ่มมีอายุ) ปัญหาทางอารมณ์ เครียดง่าย ขาดสมาธิ เมื่อยล้า นอนไม่หลับ มีความอยากของหวาน และแก่กว่าวัย เป็นต้น สาเหตุของการเกิดความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ สามารถสรุปได้ดังนี้

    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่เพิ่มปริมาณ โปรตีน น้ำตาล และไขมัน
    • การได้รับสารเคมี สิ่งปนเปื้อนหรือวัตถุเจือปนอาหาร อาทิเช่น ยากำจัดศัตรูพืช สารปรุงแต่งรส สารถนอมอาหาร วัตถุกันเสีย
    • ดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
    • ยารักษาโรค หรือที่ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ อาทิเช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
    • การมีสุขภาพปากและฟันที่ไม่ดี
    • ความเครียด

การปรับสมดุลแบคทีเรียในร่างกายเพื่อส่หงเสริมสุขภาพดี

การรับประทานอาหารและทำกิจกรรมหลากหลาย เป็นช้อแนะนำที่ง่ายที่สุด การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยในการบ่งชี้ปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขและส่งเสริมสุขภาพได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ การขาดข้อมูลและความรู้ด้านสุขภาพแบบแม่นยำ (Precision health literacy) อาจจะเกิดผลเสีย หรือผลที่ไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคอาหารเสริมที่มีจุลินทรีย์บางสายพันธุ์ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ได้มากขึ้น หากผู้นั้นมีแบคทีเรียชนิดนั้น ๆ อยู่ในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมอยู่แล้ว

นอกจากแบคทีเรียชนิดดี (Probiotics) ซึ่งมีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น Lactobacillus Rhamnosus และ Bacillus Coagulans ช่วยย่อยแลคโตสและน้ำตาล Bifidobacterium ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรทและไฟเบอร์ (พบในอาหารหมักดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว) Streptococcus Thermophilus ช่วยย่อยโปรตีนและไขมัน (พบมากในนม ชีส โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์จากนม) อาหารสำหรับแบคทีเรีย (Prebiotics) ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน Prebiotics ได้มาจากแหล่งอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ทั้งไฟเบอร์ที่ละลายน้ำและที่ไม่ละลายน้ำ รวมทั้งแป้งที่ทนการย่อย (Resistant starch) Prebiotics เป็นแหล่งพลังงานและช่วยในการเจริญเติบโตช่วยให้ Probiotics แข็งแรงและมีปริมาณมากพอที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

โดยสรุป ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีความรุดหน้ามาก สามารถตรวจวินิจฉัยปริมาณแบคทีเรียชนิดดีและไม่ดีในร่างกายจากอุจจาระ หรือเมือกในผนังลำไส้ โดยเฉพาะอย่าง วิเคราะห์ความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ และความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียและการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหรือการส่งเสริมสุขภาพ โดยการเติมแบคทีเรียบางตัวเข้าไปร่างกายยังมีข้อจำกัด และอาจเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งแบคทีเรียที่เติมเข้าไป (โดยการบริโภคจุลินทรีย์สังเคราะห์ หรือการปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ) อาจจะถูกกลไกในร่างกายขับออกทั้งหมด หรือเข้าไปทำลายความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ และอาจก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

ที่มารูป : badgut.org

PGxCard

กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม ร่วมกับ คณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้โครงการ การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตัลในการใช้ข้อมูลเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในการดูแลประชาชนชาวไทย (PharmCard) ทั้งนี้ คณะเภสัชฯ จะดำเนินการวิจัย วิเคราะห์แปลผลข้อมูลเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อป้องกันการแพ้ยาและปรับขนาดยาที่เหมาะสม และกินอยู่ดี แพลตฟอร์ม จะร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูล แพลตฟอร์มการประมวลผลและให้บริการบัตรแพ้ยาอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ โครงการยังมีความร่วมมือกับศูนย์จีโนมทางการแพทย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในด้านการวิจัยและการให้บริการคำปรึกษาผ่านระบบ KinYooDee Counseling (Telemedicine)

DNA Methylation in Lung Cancer

เมื่อยีนกลายพันธ์เป็นมะเร็งปอด ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น?

โรคมะเร็งปอด ระบบนิเวศที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการรักษา เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย (รองจากมะเร็งตับ) ข้อมูลทางสถิติจากสถาบันมะเร็ง พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 47 รายต่อวัน และยังมีอัตราการเกิดโรคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือ Chest x-ray ในปัจจุบัน ซึ่งมักจะรวมอยู่ในแพ็คเกจตรวจสุขภาพประจำปี ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะคัดกรองเซลล์มะเร็งปอดในระยะต้นที่มีขนาดเล็กมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมากกว่าร้อย 80 มักจะตรวจพบมะเร็งปอดได้ในระยะที่ 4 (หรือระยะสุดท้าย) ซึ่งเป็นระยะแพร่กระจายไปที่เยื่อหุ้มปอด หรือแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง

ปอด เป็นอวัยวะในร่างกายที่มีความสำคัญในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังใช้ในการหายใจ หน้าที่หลักของปอด คือ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อสร้างพลังงานให้กับร่างกาย และแลกเปลี่ยนเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบเลือดสู่สิ่งแวดล้อม ปอดทำงานโดยการประกอบกันขึ้นของเซลล์เป็นจำนวนนับล้านเซลล์ที่มีขนาดเล็กวางเรียงตัวกันเป็นถุงเหมือนลูกโป่ง ที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ รวมทั้งยังทำหน้าที่อื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิเช่น ควบคุมและขับสารต่าง ๆ เช่น แยกแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ควบคุมสมดุลของความเป็นกรดด่างในเลือด ซึ่งมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์และอวัยวะต่าง ๆ โดยทั่วไป ปอดในร่างกายคนเราจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 กิโลกรัม และมีพื้นที่ผิวสัมผัสมากถึง 70 – 100 ตารางเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดของสนามเทนนิส ทำหน้าที่เสมือนเครื่องฟอกอากาศในการดักจับฝุ่นละอองและมลพิษก่อนเข้าสู่ร่างกาย

สัญญาณเตือนของการเกิดโรคมะเร็งปอด คือ มีการไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 1 เดือน เหนื่อยหอบง่าย แน่นหน้าอก และอ่อนเพลีย โดยมี 2 สาเหตุหลักที่ส่งผลต่อเกิดโรคมะเร็งปอด คือ 1) ยีนกลายพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่ และ 2) การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก อาทิเช่น ควันจากท่อไอเสีย ฝุ่นละอองขนาดเล็กจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน PM2.5 และมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ลอยเข้าไปในหลอดลม ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมปอดได้รับการระคายเคืองเป็นเวลานาน ส่งผลให้เซลล์ในปอดเกิดการกลายพันธุ์ มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่สามารถควบคุมได้และกลายเป็นมะเร็ง

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเหนือระดับดีเอ็นเอ (DNA modification)

เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม จะเป็นดิสรัปชันทางการแพทย์ที่สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปอดได้ตั้งแต่เซลล์เริ่มทำงานผิดปกติ ซึ่งแตกต่างจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก CT Scan ที่มีราคาแพงและผู้เข้าตรวจได้รับผลกระทบจากการได้รับรังสีในปริมาณสูง หรือการตรวจแบบใช้รังสีต่ำ Low Dose CT Scan ซึ่งผู้เข้าตรวจยังคงได้รับปริมาณรังสีแต่ในระดับต่ำและตรวจพบได้เมื่อผู้เข้าตรวจเริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นแล้ว

ในปัจจุบัน งานวิจัยทางการแพทย์อาศัยการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีน (DNA methylation) ซึ่งเป็นกลไกการใส่หมู่ methyl ของ DNA ที่ตำแหน่ง CpG nucleotide ที่มีลำดับเบส cytosine (C) อยู่ต่อหน้า guanine (G) โดยตำแหน่งที่มักจะเกิด DNA methylation ได้บ่อยก็คือส่วนที่เป็น promoter ซึ่งหากมีการเติมหมู่ methyl นี้เข้าไปมาก ๆ จะทำให้การแสดงออกของยีนนั้นลดลง หรือผลิตโปรตีนได้น้อยลง ในทางตรงข้าม หากเกิดกลไกการเอาหมู่ methyl ออกจากลำดับเบส cytosine (C) จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกของยีน หรือสร้างโปรตีนขึ้นมามากยิ่งขึ้น (Hypomethylation) ซึ่งในโรคมะเร็งพบว่าการเปลี่ยนแปลงของ DNA methylation จะเป็นแบบซับซ้อนและมีการเกิด methylation โดยรวมพร้อมกันทุกตำแหน่ง เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล DNA methylation ในการตรวจคัดกรองบุคคลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยจำแนกความแตกต่างของระดับ Methylation ของยีนในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอด และกลุ่มที่ไม่เป็นโรค นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองในปัจจุบันยังสามารถใช้ ctDNA (circulating tumor) ที่อยู่ในเลือด โดยไม่ต้องเจาะเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อมาใช้ในการตรวจ (Biopsy) ยกตัวอย่างเช่น ยีน DSC3, MUC1, VDNL1, RORC, ACSL5, KRT6B และ TP63 ที่มีการ methylate ที่ตรวจพบในชิ้นเนื้อ และสามารถในเลือด ctDNA ด้วยเช่นกัน

โดยสรุป ความก้าวหน้าทางการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) ได้รุดหน้าไปมาก มีงานวิจัยจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น โดยอาศัยข้อมูลการแสดงออกของยีน (DNA methylation) รวมถึงการรักษาโรคมะเร็งอย่างตรงจุดโดยใช้ยามุ่งเป้า ซึงโรคมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่มียามุ่งเป้าจำนวนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการวินิจฉัยและการรักษาที่ลงลึกระดับ DNA นั้น การดำเนินการจำนวนมากยังอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิก ซึ่งคาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้า การแพทย์แม่นยำจะช่วยคัดกรองและรักษาโรคมะเร็งปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และลดค่าใช้ในการรักษาพยาบาลภาครัฐลงได้อย่างมหาศาล

ที่มารูป : iqair.com

PGxCard

แพ้ยา … เพราะเรามียีนแตกต่างกัน !

คำถามที่จะต้องคอยตอบอยู่เป็นประจำเมื่อไปพบแพทย์ หรือเภสัชกรที่ร้านขายยา … แพ้ยาตัวไหนบ้างคะ ถ้าไม่เคยมีประวัติแพ้ยามาก่อน ก็ตอบกลับทุกครั้งว่า ไม่มีครับ … จริง ๆ แล้วควรจะตอบว่า “ไม่ทราบครับ” น่าจะถูกต้องมากกว่า แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า แพ้ยาอะไร … พันธุกรรมหรือยีน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการแพ้ยา นอกจากนี้ ภาวะสุขภาพ (โรค/ประจำตัว) ของแต่ละบุคคลอาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการแพ้ยาที่เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มระดับความรุนแรงของโรค และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้  … แค่แพ้ยาก็ตายได้ หรือมีอาการแพ้ยาแบบรุนแรง มีอาการชัก ผิวหนังหลุดลอก ตับอักเสบ ไตวาย ตาบอด …

PGxCard หรือ บัตรแพ้ยา จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยป้องกันภาวะแพ้ยารุนแรง รวมทั้งช่วยในการเลือกใช้และปรับขนาดยาที่เหมาะสมในการรักษาโรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย ประชาชน และประเทศ

Recommendation:

    • Consider alternative drugs
    • Consult with doctor before use
    • Adjust dose based on clinical response
    • Decrease dose
    • Increase dose
    • Beware of insufficient treatment
    • Use with caution
    • Normal response expected

ที่มารูป: genome.gov

 

Genes and VO2 Max

ยีนเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความอึดของร่างกาย (VO2 Max)

กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่า VO2 Max ของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมบางคน จึงมีค่า VO2 Max สูง หรือร่างกายมีความอึดมากกว่า ออกกำลังกายได้นานกว่า คนทั่วไปเมื่อออกกำลังกายอย่างเพียงพอ สามารถเพิ่มค่า VO2 Max ได้ 15-20% ขณะที่บางคน ไม่สามารถเพิ่มค่า VO2 Max ได้ถึงแม้ว่าจะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง มีค่า VO2 Max ลดลง หลังจากการออกกำลังกาย ความสำคัญของ VO2 Max ไม่เพียงแต่ใช้บ่งชี้ถึงความอึดของร่างกายเท่านั้น ยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น จากงานวิจัยพบว่า การเพิ่มขึ้นของ VO2 Max เพียง 1 ml/kg/min สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ 3.2%

ในขณะที่เราหายใจเข้าจะดึงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกายและกล้ามเนื้อ และกระตุ้นให้เกิดปฏิกริยาเคมีเพื่อสร้างพลังงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ออกซิเจนที่อยู่ในเลือดจะถูกใช้ในกระบวนการย่อยแป้ง ไขมัน และโปรตีน เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการพลังงานมากกว่าปกติ ส่งผลให้เราหายใจลึกขึ้น เร็วขึ้น และหายใจถี่ขึ้น ซึ่งทำให้หัวใจและปอดทำงานมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน

ค่า VO2 Max (Maximal Oxygen Consumption) คือ อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังกาย มีหน่วยเป็นมิลลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในเวลา 1 นาที (ml/kg/min) กล่าวคือ ผู้ที่มีค่า VO2 Max ต่ำ ร่างกายจะมีความสามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้น้อย ส่งผลให้เกิดการสะสมของของเสีย (กรดแลกติก) ในกระแสเลือด ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการปวดเมื่อยและมีความเหนื่อยล้ามากกว่า ผู้ที่มีค่า VO2 Max สูง

ค่า VO2 Max จะขึ้นกับเพศ อายุ (น้ำหนักตัวและส่วนสูง BMI) จำนวนเม็ดเลือดแดง ประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อ สภาพของหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงกรรมพันธุ์ (มีผลประมาณ 50%) ซึ่งมียีนในร่างกายที่ส่งผลต่อค่า VO2 Max อาทิเช่น ACE, PGC1A, CKM, AMPD1, AKT1, HIF1A, VEGF และ ADRB2 โดยที่ ยีนเหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด การกำจัดของเสีย (แลคเตท) ในกระแสเลือด (Lactase clearance) และควบคุมการทำงานของไมโครคอนเดรีย ซึ่งทำหน้าที่ในการเผาผลาญอาหารเพื่อเป็นพลังงาน รวมทั้งกลไกทางขีวภาพอื่น ๆ ในร่างกาย จากข้อมูลทางสถิติ คนทั่วไปจะมีค่า VO2 Max เฉลี่ยอยู่ที่ 35 ml/kg/min

การเพิ่ม VO2 Max

สำหรับผู้ที่มีค่า VO2 Max ต่ำ การออกกำลังกายควรเน้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมทั้งการออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค (Anaerobic) คือ การออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญพลังงาน อาทิเช่น การเล่นเวท และการเล่นโยคะ ขณะที่ผู้ที่มีค่า VO2 Max สูง อาจจะเน้นการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นเป็นบางช่วงจังหวะ (High-Intensity Interval Training: HIIT) อาทิเช่น การวิ่งและหยุดพักตามช่วงเวลา ในกรณีผู้ที่มีค่า VO2 Max ในระดับปานกลางอาจจะใช้การผสมผสานระหว่างทั้งสองแบบ ยกตัวอย่างเช่น การเดินสลับการเดินเร็ว หรือวิ่ง Jogging เป็นต้น

VO2 Max กับภาวะสุขภาพ

นอกจากใช้บ่งชี้ความอึดของร่างกายแล้ว VO2 Max ยังถูกใช้ในการบ่งชี้ภาวะสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac health) จากงานวิจัยพบว่า การเพิ่มขึ้นของค่า VO2 Max ของร่างกาย (จากระดับปกติของแต่ละบุคคล ในแต่ละช่วงวัย) จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า VO2 Max ยังมีความสัมพันธ์กับความสามารถของหัวใจในการกลับสู่อัตราปกติหลังจากการออกกำลังกายภายในระยะเวลาที่กำหนด (Heart Rate Recovery: HRR) ยกตัวอย่างเช่น หลังหยุดออกกำลังกาย 5 นาที อัตราการเต้นของหัวใจ ควรมีค่าไม่เกิน 120 bpm ยิ่งอัตราการเต้นของหัวใจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วหลังจากการออกกำลังกายบ่งชี้ถึงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดที่ดี

อาหารที่ช่วยเพิ่ม VO2 Max

อาหารที่จะช่วยเพิ่ม VO2 Max ได้แก่ อาหารที่อุดมไปด้วยไนเตรท (Healthy nitric oxide) ที่ช่วยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาทิเช่น บีทรูท ผักขม ร็อกเก็ต ผักกาดหอม เซเลอรี่ และแครอท รวมทั้ง กาเฟอีน (ชา กาแฟ) คาร์นิทีน และโคลีน (อาทิเช่น เนื้อแดง ตับ ไข่ นม ปลา ถั่ว) ที่จะช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ร่างกายยังต้องการค่าความเป็นกรดด่าง pH อยู่ในระดับ 7.4 ดังนั้นกลุ่มอาหารอัลคาไลน์ที่มีความเป็นกรดด่างเป็นกลาง อาทิเช่น ผักใบเขียว ดอกกะหล่ำ บร็อกโคลี่ หัวหอม ข้าวกล้อง เนื้อไก่ ถั่วประเภทต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่ม VO2 Max

สังเกตด้วยว่า การออกกำลังกายเป็นสาเหตุให้ระดับกรดแลคติกในกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ร่างกายจึงต้องการพักผ่อนและการขับถ่ายของเสียที่เพียงพอ รวมทั้งสารอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความเป็นกรดในร่างกาย นอกจากนี้ ค่า VO2 Max ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของปอดในการรับออกซิเจน และความสามารถของหัวใจและหลอดเลือดในการสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อ และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากประสิทธิภาพของยีนในกล้ามเนื้อ (ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล) ที่มีการดึงเอาออกซิเจนมาใช้เป็นพลังงานในการเคลื่อนไหว ซึ่งมีความสำคัญต่อการมีสุขภาพดีและระดับความฟิตของร่างกาย (Fitness level)

ที่มารูป : groupon

DNA TEST KIT – ESSENTIAL

DNA TEST KIT – ESSENTIAL เพื่อส่งเสริมสุขภาพและตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากปัจจัยทางพันธุกรรม Food x Fitness x Microbiome x Drug x Health x Cancer – KinYooDee Precision Healthcare

#ตรวจยีน #ตรวจ DNA

Lactose Intolerance

บางคนดื่มนมแล้วอาจมีอาการท้องเสีย มีลมในท้อง ปวดบริเวณช่องท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากร่างกายที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสที่อยู่ในนม รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนมได้

น้ำตาลแลคโตส ช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมในนม ซึ่งส่งเสริมให้กระดูกและฟันมีสุขภาพดี นอกจากนี้ แลคโตสยังมีน้ำตาลกาแล็กโทส (Galactose) หรือเรียกว่า น้ำตาลสมอง เป็นองค์ประกอบ มีส่วนช่วยในการทำงานของสมองและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ปัญหาในการเผาผลาญน้ำตาลในนม หรือแลคโตสทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งมาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกเกิดจากยีน LCT ไม่สามารถสร้างเอ็นไซม์ Lactase (หรือสร้างได้น้อย) สำหรับใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสที่อยู่ในนม และ/หรือจาก ยีน MCM6 ที่ควบคุมการทำงานของยีน LCT อีกต่อหนึ่ง มีประสิทธิภาพลดลง จากข้อมูลมนุษยพันธุศาสตร์ คนเอเชียตะวันออก (East Asia) ร้อยละ 70 ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ชาวตะวันตก เพียงร้อยละ 10-20 ที่พบสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส)

สาเหตุที่ 2 ของสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส เกิดจากความผิดปกติของลำไส้ การบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยทำให้สูญเสียความสามารถในการเผาผลาญแลคโตสชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก สังเกตด้วยว่า

ผู้ที่แพ้กลูเตน (Celiac Disease) โดยส่วนใหญ่จะมีสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตสร่วมด้วยเช่นกัน และสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลตโตสจะแตกต่างจากอาการแพ้นม ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่สามารถต่อต้านโปรตีนในนม และอาจจะเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงกว่า ในกรณีสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลตโตส

นอกจากนี้ ภาวะการไม่ทนน้ำตาลแลตโตส อาจเกิดขึ้นหลังจากผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจ ในช่วงระเวลาหนึ่ง และเปลี่ยนกลับมารับประทานอาหารปกติ เนื่องจากยีน LCT ที่สร้างเอ็นไซม์ในการย่อยน้ำตาลแลตโตสอาจจะหยุดทำงานชั่วคราว ในช่วงที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้งาน นอกจากนี้ แบคทีเรียในลำไส้ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตส นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่รับประทานเข้าไปจะมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเหล่านี้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมบางคนเมื่อตรวจพันธุกรรมแล้วมีภาวะการไม่ทนน้ำตาลแลคโตส แต่ยังสามารถดื่มนมได้วันละประมาณ 1-2 แก้ว โดยไม่เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีภาวะการไม่ทนน้ำตาลแลตโตส และมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ ควรบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ปราศจากแลคโตส (Lactose-free) รวมทั้งเสริมอาหารประเภทอื่นที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อทดแทนการดื่มนม

ที่มารูป : LiverDoctor

Vitamin C Deficiency

การขาดการเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ส่งผลต่อภาวะการขาดวิตามินซี

วิตามินซี (Vitamin C) เป็นหนึ่งในวิตามินที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายมากที่สุด ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับผ่านทางอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น ภาวะการขาดวิตามินซีพบได้น้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้โดยขาดการเอาใจใส่ต่อสุขภาพ อาทิเช่น

    • การขาดภาวะโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่ได้รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า ภาวะการขาดวิตามินซี อาจจะแปรผันตามฤดูกาล เช่น ในช่วงฤดูหนาว ร่างกายจะมีระดับวิตามินซี สูงกว่าฤดูร้อน เนื่องจากในฤดูหนาว จะมีผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซีหลากหลายชนิดให้รับประทาน เช่น ฝรั่ง ส้ม สตรอว์เบอรี่ เลมอน เป็นต้น
    • วิธีการปรุงอาหารที่ไม่ถูกต้อง (Over-cooking) เนื่องจากวิตามินซีถูกทำลายได้โดยง่ายเมื่อได้รับความร้อน ยกตัวอย่างเช่น การประกอบอาหารด้วยความร้อน เป็นระยะเวลา 30 นาที จะทำให้สูญเสียวิตามินซีมากถึง 80% นอกจากนี้ วิตามินซี ยังมีคุณสมบัติละลายน้ำ การใช้น้ำในการหุงต้ม หรือลวก จะทำให้วิตามินซีละลายออกมาในน้ำ เพิ่มการสูญเสียมากขึ้น
    • คนที่สูบบุหรี่ หรือผู้อยู่รอบข้าง มีความต้องการวิตามินซีมากกว่าปกติ เพื่อใช้ในการซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหายจากควันบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับควันไฟ
    • ปัญหาสุขภาพ อาทิเช่น โรคไต มะเร็ง โรคผอมแห้ง ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมวิตามินซีจากอาหารได้ลดลง
    • ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยมียีน SLC23A1 และ SLC23A2 ที่ทำหน้าที่ควบคุมการดูดซึมวิตามินซี ผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ วิตามินซีที่ได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริมจะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย และถูกขับออกทางปัสสาวะ
    • วิตามินซี ไม่ได้ถูกจัดเก็บในร่างกายได้เป็นเวลานาน ดังนั้น จึงควรรับประทานผักและผลไม้ เป็นประจำทุกวัน

ผู้ที่ขาดวิตามินซีจะมีระดับวิตามินซีในพลาสมาหรือซีรัม น้อยกว่า 2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และมีลักษณะที่สังเกตได้เด่นชัดคือ มีอาการเลือดออกตามไรฟัน รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกาต์ และมะเร็งกะเพาะอาหาร

ยังเป็นข้อโต้แย้งถึงประโยชน์ของวิตามินซีในการรักษาไข้หวัด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า วิตามินซีไม่ได้ช่วยรักษาโรคหวัด แต่ถ้าร่างกายได้รับวิตามินซีเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน จะช่วยป้องกันและช่วยให้โรคหวัดมีอาการน้อยลง รวมทั้งหายได้เร็วขึ้น ประโยชน์ของวิตามินซี สามารถสรุปได้ ดังนี้

    • ช่วยรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน
    • ช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ช่วยสมานแผน
    • ช่วยสังเคราะห์คอลลาเจน ทำให้ผิวสวยสดใส สุขภาพดี
    • ช่วยป้องกันและลดอาการไข้หวัด เมื่อได้รับวิตามินซีอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
    • ช่วยลดการติดเชื้อ สร้างภูมิคุ้มกัน
    • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในระดับรุนแรง
    • ช่วยสร้างฮอร์โมนที่สำคัญต่อสมอง
    • ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กและทองแดง

คำแนะนำทั่วไป ชายและหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับวิตามินซีในปริมาณ 90 และ 75 มิลลิกรัมต่อวัน และคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับอย่างน้อยวันละ 85 และ 120 มิลลิกรัม รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ ควรได้รับเพิ่มขึ้นจากปกติ 35 มิลลิกรัมต่อวัน สังเกตด้วยว่า การได้รับวิตามินซีที่มากเกินไป (ในปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) ยังไม่มีรายงานว่า ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยร่างกายมีกลไกการขับวิตามินซีส่วนเกินออกทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินซีในปริมาณที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการทำงานของไต อาหารที่มีอุดมด้วยวิตามินซี ยกตัวอย่างเช่น ในปริมาณ 100 กรัม ฝรั่ง จะมีวิตามินซี 230 มิลลิกรัม พริกหวาน (200) คะน้า (90) กีวี (75) ส้ม (60) บร็อกโคลี่ (60) มะละกอ (60) สตรอว์เบอรี่ (60) สับปะรด (50) เลมอน (45) มะนาว (30) แก้วมังกร (20) และแครอท (6) เป็นต้น

ที่มารูป : Healthline

Caffeine Sensitivity

กาแฟ – สารต้านอนุมูลอิสระและยีน CYP1A2 ที่ส่งผลต่อร่างกาย

ยังเป็นข้อโต้แย้งถึงประโยชน์ของการดื่มกาแฟที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพดี ช่วยเพิ่มพลัง ความกะปรี้กระเปร่า และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งเสพติดและเป็นโทษต่อร่างกาย

ผลงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า กาเฟอีน (Caffeine) ในกาแฟ นั้นเป็นประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคตับ มะเร็งบางประเภท และอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ เนื่องจากกาเฟอีนนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ และกาแฟนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงได้รับสารอนุมูลอิสระจากการดื่มกาแฟในทุก ๆ วัน โดยไม่รู้ตัว

โดยตลอดช่วงเวลาที่เราตื่นนั้น ร่างกายของเราจะค่อย ๆ ผลิตและสะสมอะดีโนซีน (Adenosine) ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราได้นอนหลับ อะดีโนซีนจะสลายหายไปและทำให้เราสดชื่นหลังจากตื่นขึ้นมา และเมื่อเราดื่มกาแฟ กาเฟอีนจะเข้าไปบล็อกการทำงานของอะดีโนซีน แต่ไม่ได้บล็อกการสะสมของอะดีโนซีน หรือกำจัดอะดีโนซีนออกไป ซึ่งหมายความว่า เมื่อกาเฟอีนที่อยู่ในร่างกายมีเหลืออยู่ปริมาณน้อยหรือมีฤทธิ์อ่อนลง อะดีโนซีนที่สะสมไว้เรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราง่วงและอยากจะนอนหลับพักผ่อน

ผลการศึกษาทางด้านโภชนพันธุ์ศาสตร์ พบว่า ยีน CYP1A2 ในโครโมโซมคู่ที่ 15 ส่งผลต่อกลไกการทำงานของกาเฟอีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยตรง (Caffeine Sensitivity หรือ Caffeine Intolerance) โดยยีนดังกล่าวจะทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ในการย่อย (Metabolize) กาเฟอีน ซึ่งการกลายพันธุ์ของยีน CYP1A2 อาจจะเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) การย่อยกาเฟอีนที่เร็วเกินไป (Fast metabolizer) และ 2) การย่อยกาเฟอีนที่ช้าเกินไป (Slow metabolizer) การกลายพันธุ์ของยีนในลักษณะแรก ส่งผลให้ทำไมบางคนดื่มกาแฟแล้วยังรู้สึกง่วงนอน และต้องการกาเฟอีนในปริมาณมากกว่าปกติเพื่อให้เกิด Effect ที่ต้องการ เช่น ดื่มกาแฟ 3-4 แก้วต่อวัน จากข้อมูลมนุษยพันธุศาสตร์ จะมีประชากร ประมาณร้อยละ 10 ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนในลักษณะย่อยกาเฟอีนที่เร็วเกินไป (หรือพบได้ 1 ใน 10 คน) ในทางตรงกันข้าม การย่อยกาเฟอีนที่ช้าเกินไป โดยยีนที่สร้างเอนไซม์ย่อยกาเฟอีน ย่อยได้ช้า ทำให้กาเฟอีนสะสมอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ และการที่กาเฟอีนสะสมอยู่ในร่างกายในระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และนอนไม่หลับ รวมทั้งส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ

นอกจากนี้ บางคนอาจจะมีอาการแพ้กาเฟอีน (Caffeine Allergy) ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก และมีสาเหตุมาปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่พันธุกรรม (ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด) การแพ้กาเฟอีนเกิดจากการที่ร่างกายมองว่ากาเฟอีนเป็นสารอันตราย ระบบภูมิคุ้มกันจึงพยายามกำจัดกาเฟอีนออกจากร่างกายด้วยการหลั่งสารเคมี (Antibody) ต่าง ๆ เมื่อสารเคมีเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นแดงคัน ลมพิษ คัดจมูก น้ำมูกไหล ตาบวมแดง ผิวหนัง คอ ลิ้น และริมฝีปากบวม ในบางกรณี ผู้ที่แพ้กาเฟอีนระดับที่รุนแรง แค่ได้กลิ่นกาแฟก็อาจจะเกิดอาการเวียนหัวหรือปวดหัวได้

ข้อแนะนำสำหรับคนทั่วไปในการดื่มกาแฟ หรือได้รับกาเฟอีน ในปริมาณที่ปลอดภัย ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัม ต่อวัน (เทียบเท่ากับ การดื่มกาแฟ 4 แก้ว) และผู้ที่มียีนที่ย่อยกาเฟอีนได้ช้า ควรจะหลีกเลี่ยงการบริโภคกาเฟอีน หรือจำกัดการบริโภคให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม (หรือดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน) สำหรับผู้ที่แพ้กาเฟอีน ควรงดบริโภคกาเฟอีนทุกรูปแบบ และควรปรึกษาแพทย์

สังเกตด้วยว่า องค์กรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเราดื่มกาแฟ กาเฟอีนที่อยู่ในร่างกายยังคงออกฤทธิ์และจะมีปริมาณลดลงครึ่งนึงหลังจากที่บริโภคเข้าไปเมื่อเวลาผ่านไป 5 ชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราดื่มกาแฟ 1 แก้ว (100 มิลลิกรัม) หลังจาก 5 ชั่วโมง จะมีปริมาณกาเฟอีนในร่างกายเหลืออยู่ 50 มิลลิกรัม ส่วนที่เหลือครึ่งนึงอาจจะต้องใช้เวลาในการกำจัดออกจากร่างกายมากกว่า 5 ชั่วโมง และสำหรับผู้ที่แพ้กาเฟอีน อาจจะคงมีอาการที่ไม่พึงประสงค์นานอยู่หลายชั่วโมง หรือมากถึง 1- 2 วัน ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ควรจะดื่มกาแฟ รวมทั้งอาหารที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ (เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม ชาเขียว ช็อกโกแลต เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มให้พลังงาน) อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เพื่อให้ร่างกายได้นอนหลับสนิท

ที่มารูป : paramountcoffee

ชุดตรวจ Cancer DNA

อย่ารอจน … สายเกินไป

คัดกรองความเสี่ยงในเกิดโรคมะเร็ง ที่อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือยีนในร่างกายที่ทำงานผิดปกติ เพื่อการรักษาและป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น !

วิเคราะห์ผลจากชุดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากกระพุ้งแก้ม ตรวจเฉพาะยีนมะเร็งตามรายการ 11 ประเภท ซ้ำ 100 ครั้ง (100X) เพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำ หากท่านตรวจพบยีนและการกลายพันธุ์ของโรคมะเร็งบางประเภท เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ศาสตร์หรือแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่าง ๆ ที่จำเป็นให้ทราบโดยละเอียด ผ่านระบบ KinYooDee TeleHealth

สั่งซื้อชุดตรวจ on our Apps

KinYooDee