Muscle power

พันธุกรรมที่ส่งผลต่อพลังกล้ามเนื้อ กับประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะกับคุณ – พลังกล้ามเนื้อ (Muscle Power) คือ ความสามารถในการทำงานของกลุ่มกล้ามเนื้อ การยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อในการออกแรงสูงสุด ซึ่งกระทำในระยะเวลาสั้นและไม่เกิดความเมื่อยล้าหนึ่งครั้ง อาทิเช่น ยืนกระโดดไกล การยกน้ำหนัก การวิ่งระยะสั้น และกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องการความเร็วและใช้แรงอย่างมาก จะต้องอาศัยพลังกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ จากงานวิจัยยังพบว่า พลังกล้ามเนื้อเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการมีอายุยืนยาว อย่างมีนัยสำคัญ

กล้ามเนื้อ (Muscle) ทำหน้าที่ในการยืดตัวและหดตัว ช่วยคงรูปร่าง ท่าทาง ยึดข้อต่อต่าง ๆ ภายในร่างกายเข้าด้วยกัน รวมทั้งยังช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคุมการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น การเดิน ยืน นั่ง นอน และการพูด เป็นต้น กล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

    1. กล้ามเนื้อลาย หรือกล้ามเนื้อยึดกระดูก(Skeletal Muscle) ทำงานภายใต้ความคิดของเรา คือ สามารถสั่งการได้ เช่น กล้ามเนื้อ แขน ขา
    2. กล้ามเนื้อหัวใจ ทำงานภายใต้ระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้
    3. กล้ามเนื้อเรียบ ทำงานภายใต้ระบบประสาทอัตโนมัติเช่นกัน พบได้ในทางเดินอาหาร

การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้อลาย) สามารถแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่

    1. Muscle Strength การออกแรงสูงสุด ณ เวลาใด ๆ เป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มบุคคลทั่วไป
    2. Muscle Hypertrophy การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มนักเพาะกาย
    3. Muscle Power การออกแรงสูงสุดอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นการฝึกเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ ในกลุ่มนักกีฬา
    4. Muscle Endurance การฝึกเพื่อฟื้นฟูสภาพของกล้ามเนื้อ และการฝึกเพื่อเพิ่มความกระชับให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิง

การฝึกพลังกล้ามเนื้อ (Muscle Power) เป็นการฝึกความแข็งแรงและกำลังความเร็วของกล้ามเนื้อ มักใช้ฝึกในพวกนักกีฬา หากฝึกความแข็งแรง (Muscle Strength) มาได้ซักระยะหนึ่ง เพราะใช้น้ำหนักค่อนข้างหนักและจังหวะการยกที่ค่อนข้างเร็ว ยกตัวอย่างเช่น กีฬาที่ใช้การทุ่ม พุ่ง ขว้าง การยกน้ำหนัก และการฝึกการเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscle Endurance) ซึ่งเป็นการเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อ ไม่เพียงแค่ยกน้ำหนักหรือใช้แรงต้านในการบริหารกล้ามเนื้อ แต่จะต้องเพิ่มเวลาในการออกแรง รวมทั้งกิจกรรมที่ต้องออกแรงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาทิเช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ไตรกีฬา และอื่น ๆ

พันธุกรรมเกี่ยวข้องกับพลังกล้ามเนื้อโดยเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบของเส้นใยกล้้ามเนื้อ ขนาดกล้้ามเนื้อ และการตอบสนองของฮอร์โมน นอกจากนี้ พันธุุกรรมยังเกี่ยวข้องกับวิธีที่ร่างกายฟื้นตัวและปรับ (จดจำ) เข้ากับการฝึก ซึ่งส่งผลต่อพลังกล้ามเนื้อเมื่อเวลาผ่านไป พันธุกรรม หรือยีนที่มีอิทธิพลต่อพลังกล้ามเนื้อ ยกตัวอย่างเช่น ยีน ACTN3 ซึ่งถูกขนานนามว่า เป็นยีนแห่งความเร็ว “Speed Gene” ยีนดังกล่าวช่วยสร้างโปรตีน Alpha-actinin-3 ซึ่งช่วยในการยืดหดตัวของเส้นใยกล้ามเนื้อได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำงานที่มีแรงต้านกับน้ำหนักมากได้ดี จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบ C ที่ตำแหน่ง rs1815739 มีความสอดคล้องกับการมีพลังกล้ามเนื้อที่มากกว่าคนอื่น และมีทักษะเป็นนักกีฬาแถวหน้า (Elite Athletes) ยีน ACT ทำหน้าที่สร้างโปรตีน Angiotensinogen ซึ่งช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและช่วยปรับสมดุลของโซเดียมและของเหลวในร่างกาย ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมประเภท C ที่ตำแหน่ง rs699 สอดคล้องกับการมีพลังกล้ามเนื้อมากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากการฝึกสร้างเสริมพลังกล้ามเนื้อ และยีน DMD ทำหน้าที่สร้างโปรตีน Dystrophin ซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้เส้นใยกล้ามเนื้อ รวมทั้งช่วยในการยืดหดตัวและการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบ T ที่ตำแหน่ง rs939787 จะมีพลังกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเด่นกว่า ความอดทนของกล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงเหมาะกับกีฬาประเภทที่ใช้การออกแรงสูงสุด ที่กระทำในระยะเวลาที่สั้น เช่น วิ่งระยะ 100 เมตร นอกจากนี้ ยีน HIF1A ทำหน้าที่สร้างโปรตีน Hypoxia-inducible factor-1a ซึ่งช่วยควบคุมการแสดงออกของยีนที่ทำงานภายใต้ภาวะออกซิเจนต่ำ โปรตีนชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสลายน้ำตาลเป็นพลังงาน (Glycolysis) รวมถึงการสร้างกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบ T ที่ตำแหน่ง rs11549465 สอดคล้องกับการมีกล้ามเนื้อที่สามารถหดตัวได้เร็วและแรงที่สุดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงเหมาะกับการออกกำลังการที่ใช้พลังกล้ามเนื้อมาก ๆ อย่างรวดเร็ว อาทิเช่น กีฬาวิ่ง หรือว่ายน้ำระยะสั้น นักยกน้ำหนัก และนักมวยปล้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พันธุุกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยพลังกล้ามเนื้อเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนากล้ามเนื้อเช่นกัน

ที่มารูป: MedicalNewsToday