Vitamin B6 – Skin Friend

วิตามินบี 6 เพื่อนแท้ของผิว ความลับที่ถูกเปิดเผย

วิตามินบี 6 หรือ Pyridoxine เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้เอง ต้องอาศัยการดูดซึมจากอาหารที่รับประทานเท่านั้น การทำงานของวิตามินบี 6 จะอยู่ในรูป Pyridoxal 5’ Phosphate หรือ PLP ซึ่งเป็นโคเอนไซม์ทำหน้าที่ช่วยเอนไซม์ในการย่อยคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงสมอง รวมทั้ง PLP ยังช่วยการทำงานของเอนไซม์กว่าร้อยชนิด ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น วิตามินบี 6 จึงเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากในกลุ่มวิตามินบี ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ดังนี้

    • ช่วยป้องกันความเสียงของภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์
    • ช่วยลดภาวะซึมเศร้า ทำให้อารมณ์ดี และช่วยในการนอนหลับ
    • ช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง
    • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
    • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมาเร็ งบางประเภท ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เต้านม และต่อมลูกหมาก
    • ช่วยลดอาการวัยทองสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

โดยทั่วไป ร่างกายเราได้รับวิตามินบี 6 จากการรับประทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอ อาทิเช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องใน ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช ปลาทะเล อาหารทะเล ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดวิตามินบี 6 มักมีสาเหตุมาจาก

    • ร่างกายมีความสามารถในการดูดซึมวิตามินบี 6 ได้น้อย (เนื่องจาก ยีน ALPL ในร่างกาย ที่ทำหน้าที่ย่อยวิตามินบี 6 และผลิตเอนไซม์ที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี 6 มีลักษณะพันธุกรรมบางประเภท ที่ส่งผลให้ยีน ALPL ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายบางคนดูดซึมวิตามินบี 6 ได้น้อยกว่าคนอื่น ซึ่งโดยสถิติ คนเอเชียจะมีพันธุกรรมประเภทนี้ มากถึงร้อยละ 44)
    • ผู้ติดสุราเรื้อรัง
    • ผู้ป่วยโรคไต และโรคแพ้ภูมิตัวเอง
    • การฟอกเลือด
    • การใช้ยายาปฏิชีวนะบางชนิด

ภาวะการขาดวิตามินบี 6 สามาถสังเกตได้จากอาการที่มีภาวะโลหิตจาง มีผื่นคัน แพ้ที่ผิวหนัง ริมฝีปากแห้ง มีภูมิต้านทานต่ำ ชาที่มือและเท้า สมองล้า และร่างกายอ่อนล้าไม่มีเรี่ยวแรง

Vitamin B6 – Skin Friend

ในช่วงต้น ค.ศ. 1900 มีงานวิจัยที่สำคัญพบว่า วิตามินบี 6 มีส่วนช่วยลดกระบวนการสร้างใหม่ของเซลล์ที่ทำให้ผิวหนังแห้ง และทำให้ดูแก่ก่อนวัย (Premature aging) ในปี 1934 นักชีวเคมีชาวอเมริกัน Paul Gyorgy ได้ทดลองให้หนูกินอาหารที่ปราศจากวิตามินบี 6 พบว่า หนูมีอาการแพ้ทางผิวหนัง หลังจากนั้น ได้ให้หนูกินอาหารที่มีวิตามินบี 6 ในระดับที่เหมาะสม ผลปรากฎว่า หนูไม่มีอาการภูมิแพ้อีกต่อไป  … ต่อมา วิตามินบี 6 ถูกค้นพบว่า เป็นสารต้านฮีสตามีนธรรมชาติ (Anti-histamine) ซึ่งมีความสามารถในการลดภาวะการไม่ทนต่อฮีสตามีน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สารที่ช่วยลดอาการแพ้ทางผิวหนังซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือสัมผัสสิ่งกระตุ้นการแพ้โดยตรง

การตรวจภาวะการขาดวิตามินบี 6 สามารถทำได้โดยการวัดระดับ PLP ในเลือด หรือการตรวจ #ดีเอ็นเอ ในห้องปฏิบัติการ การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการขาดวิตามินบี 6 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีภาวะการขาดวิตามินบี 6 ที่มีสาเหตุจากโรคและการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อแนะนำทั่วไป (RDA) ร่างกายควรได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณ 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน และอาจเพิ่มปริมาณ 10 -20%* สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะการขาดวิตามินบี 6 (*ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของยีน ALPL ของแต่ละบุคคล) นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานวิตามินบี 6 ที่เป็นอาหารเสริมเพียงตัวเดียว ควรรับประทานวิตามินบี 6 ในรูปวิตามินบีรวม หรือ วิตามินบีคอมเพล็กซ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากการรับประทานวิตามินบี 6 มากเกินขนาด (มากกว่า 100 -300 มิลลิกรัมต่อวัน)

ที่มารูป: expertreviews

Salt Taste Receptor

เคยสงสัยว่าทำไม บางคนจึงทานอาหารรสเค็มมากกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากยีน

มนุษย์เราสามารถรับรสได้ 5 รส ได้แก่ หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม (และอูมามิ) โดยที่ รสเค็ม มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด คนไทยติดเค็มจากวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรัง ซึ่งต้องรักษาต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2564 คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน  และมีแนวโน้มว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15 – 20% ต่อปี (ข้อมูลจาก DBMS Wellness) ความชอบในการรับประทานอาหารรสเค็ม มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1) ความชอบรับประทานอาหารรสเค็มเกิดจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่เรารับรู้เสมอว่า อาหารนั้นมีรสเค็ม (อร่อยพอดี) และเกิดเป็น “พฤติกรรมความชอบ หรือระดับความเค็มที่ชอบ (Bliss point)” จากผลสำรวจพฤติกรรมการกินของคนไทย คนไทยเลือกกินอาหารด้วยปัจจัยความชอบมากที่สุด รองลงมาคือ รสชาติ และความอยาก (ข้อมูลจาก EIC 2560)

2) ความชอบรสเค็มโดยไม่รู้ตัว ที่มีสาเหตุมาจากยีน SCNN1B และ/หรือ TRPV1 ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะติดรสเค็มได้มากกว่าคนอื่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องรับประทานเกลือในปริมาณที่มากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะให้ได้รสเค็ม หรือระดับความเค็มที่ชอบ ที่เท่ากัน

การลดการติดเค็มที่เกิดจากพฤติกรรม สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยง หรือลดการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มลงทีละน้อย อย่างต่อเนื่อง (ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เราสามารถลดปริมาณความเค็มลง 10- 15% โดยไม่สามารถสังเกตถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป) สมองจะถูกฝึกฝนให้เกิดความชอบอาหารที่มีรสเค็มลดลง จนกระทั่ง เราจะมีความชอบ หรือ Bliss point ต่อรสเค็มลดลง ในที่สุด

คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เรามีความชอบรสเค็มที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม … นอกจากการตรวจ #โภชนพันธุศาสตร์ ที่เป็นการวิเคราะห์ปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหาร (โซเดียม) กับลักษณะทางพันธุกรรมแล้ว เราสามารถทำการทดลองง่าย ๆ โดยสอบถามเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารเพื่อหาระดับความเค็มที่ชอบของเราว่ามีความแตกต่างกับเพื่อนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้เครื่องวัดความเค็มในอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งอยู่ในระดับความเค็มที่เราชอบ (เรารู้สึกว่ามันเค็มกำลังดี ไม่น้อยไป หรือเค็มมากไป) และใช้เครื่องวัดความเค็ม ได้ปริมาณโซเดียม มากกว่า 0.9 % (ซึ่งสูงกว่าปริมาณโซเดียมในเลือด) แสดงว่าเราติดรสเค็ม และถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม การติดรสเค็มของเราอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม

การติดรสเค็มนอกจากจะทำให้เกิดโรคโรคไตเรื้อรังแล้ว ยังก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา อาทิเช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลิกรัมต่อวัน หรือเกลือป่นไม่เกิน 1 ช้อนชา (หรือ 5 กรัม) โดยให้หลีกเลี่ยงการได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไปจากพฤติกรรมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงผงปรุงรส ผงชูรส น้ำจิ้ม อาหารแปรรูป/หมักดอง ลดการรับประทานอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุป รวมทั้งอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง โดยดูที่ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

การรับรสเค็ม – Salt Taste Receptor

ที่มารูป: insider

Vitamin D and Calcium

ท่านทราบหรือไม่ว่า … ภาวะการขาดวิตามินดี ร่างกายจะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงร้อยละ 10 -15 ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง

วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมวลกระดูก การขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขาดแคลเซียม ส่งผลให้เกิดสภาะกระดูกพรุน รวมทั้ง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองอุดตัน โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

เมื่อพิจารณาด้านพันธุศาสตร์ ปัจจัยทางพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อสภาวะการขาดวิตามินดีค่อนข้างน้อย โดยมียีน GC ที่สร้างโปรตีนจับวิตามินดี (Vitamin D-binding protein) ทำหน้าที่จับวิตามินดีในกระแสเลือด จากนั้นจึงนำวิตามินดีเข้าสู่กระบวนการเมตาบอลิซึมเพื่อดูดซึมแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากท่านมียีน GC ทำงานผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดสภาวะการขาดวิตามินดี มากกว่าคนทั่วไป “ถ้าร่างกายขาดวิตามินดี จะทำให้กระบวนการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ได้เพียงร้อยละ 10 – 15 จากอาหารที่รับประทานเข้าไป” นอกจากนี้ วิตามินดียังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสายเปปไทด์ต้านจุลชีพในการป้องกันการติดเชื้อโรคบางกลุ่ม อาทิเช่น โรคติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ในแต่ละวัน ร่างกายควรได้รับวิตามินดี อย่างน้อย 15 – 20 ไมโครกรัม (หรือ 400 – 800 IU) การรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ น่าจะเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินดี หรือเกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูงจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับวิตามินดีจากอาหารเสริม (ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์) อย่างไรก็ตาม สังเกตด้วยว่า โดยปกติ ร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายนั้นได้มาจากการสังเคราะห์รังสี UVB ที่ผิวหนัง การได้รับวิตามินดีจากแสงแดด หรือ “Sunshine vitamin” วิตามินดีจะสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานกว่าวิตามินดีที่ได้จากการรับประทานอาหาร 2 -3 เท่า และจะไม่เกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูง เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการสลายวิตามินดีส่วนเกินที่สังเคราะห์จากทางผิวหนังออกไป

ในประเทศเขตร้อน (ประเทศไทย) วิตามินดีจะถูกสังเคราะห์ได้ดีที่สุดในช่วงเวลา 10:00 – 15:00 ของวัน ในข้อแนะนำทั่วไป ร่างกายควรได้รับแสงแดด เป็นเวลาอย่างน้อย 20 – 30 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระดับโคเลสเตอรอลในชั้นผิวหนังของแต่ละบุคคลที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี และปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เมฆ หรือฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของรังสี UVB ในแสงแดด ถูกกรองเหลือเพียงแค่ 40 – 50% ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อกลไลการสังเคราะห์วิตามินดี

สิ่งที่เป็นข้อกังวลเรื่อง วิตามินดีกับสุขภาพ คือ สภาวะการขาดวิตามินดี จะสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกรณีการขาดวิตามินดี ที่ไม่อยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน และโรคร้ายแรงอื่น ๆ เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น โดยที่การรักษาทำได้ค่อนข้างยาก ผู้ที่มีความใส่ใจด้านสุขภาพ อาจจะใช้วิธีกรณีเลวร้ายสุด (Worst case) โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพียงพอ ประกอบกับทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส หรือการตรวจวัดระดับวิตามินดีในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมในระยะเริ่มต้น

ที่มารูป : movementality

Alcohol Flush

ดื่มแอลกอฮอล์แล้วหน้าแดงเลือดฝาด คิดว่าเลือดลมสูบฉีดดี … เป็นความเชื่อที่ผิด !

เมื่อเหล้าไหลลงคอนักดื่มแล้ว แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านกะเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเลือดที่มีแอลกอฮอล์ไหลผ่านไปที่ตับ ยีนที่มีชื่อว่า ADH1C ที่อยู่ที่ตับ จะสร้างเอนไซม์ Alcohol Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นสารอะเซตัลดีไฮด์ คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานมากกว่าคนอื่น) เวลาดื่มเหล้า ร่างกายจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นอะเซตัลดีไฮด์ได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ในเลือดเพิ่มสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง หรือมีผื่นแดงขึ้นที่ตามลำตัว ใจสั่น หายใจสั้น ปวดหัว

หลังจากที่แอลกอฮอล์ถูกเปลี่ยนเป็นอะเซตัลดีไฮด์แล้ว ยีนที่ตับอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ALDH2 จะสร้างเอ็นไซม์ Aldehyde Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนอะเซตัลดีไฮด์ให้กลายเป็นกรดอะซิติก (หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่พบได้ในธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนที่ไม่เป็นอันตราย) กลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ และขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานได้น้อยกว่าคนอื่น) ร่างกายจะย่อยสลายอะเซตัลดีไฮด์ได้ไม่ดี ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ยังคงสะสมอยู่ในเลือด และถูกดูดซึมผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง เซลล์ประสาท กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อร่างกายจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากยีน ADH1C และ ALDH2 ทำงานผิดปกติด้วยกันทั้งคู่

อะเซตัลดีไฮด์ที่ขับออกจากร่างกายไม่หมด จะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ไปนาน ๆ จะทำให้ตับโดนทำลายจนเกิดเป็นอาการ ตับแข็ง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และมะเร็งตับ หากคุณมียีนตัวใดตัวนึง หรือยีนทั้งคู่นี้ผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการดื่ม ไม่เกินวันละ 1 drink หรือเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋องเล็ก

#กินอยู่ดีแพลตฟอร์ม #โภชนพันธุศาสตร์ #ดีเอ็นเอ

ที่มารูป : baytoday