Fat Gene

ยีนอ้วน … กรรมพันธุ์อ้วน-ผอม มีอยู่จริงหรือ ?

ทำไมบางคนทานเท่าไรก็ไม่อ้วน บางคนหิวบ่อย บางคนชอบทานแป้ง ชอบขนมหวาน ของทอด อาหารสเค็ม แต่ทำไมคุณทานแค่นิดเดียว น้ำหนักก็ไม่ลดลงซักที เมื่อตัดปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม Enjoy eating ออกไปแล้ว … หรือว่า คุณจะมียีนอ้วน จริง ๆ

เมื่อมองในมุม #โภชนพันธุศาสตร์ ยีนอ้วน นั้นไม่มีจริง แต่จะมีกลุ่มของยีนบางตัวที่ตอบสนองต่อสารอาหารและอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวโดยตรง อาทิเช่น ความอยากอาหาร การตอบสนองคาร์โบไฮเดรต การตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว รวมทั้ง การรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม

คุณอาจจะมียีนตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลาย ๆ ตัวรวมกัน ทำงานได้ไม่ดี หรือทำงานผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ยีน FTO ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) ที่หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร จะส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิวและทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหาร รวมทั้งยีน MC4R ที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวในต่อมใต้สมอง คนที่มียีนดังกล่าวนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้มีความอยากอาหารและรู้สึกหิวมากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

คนที่มียีน TCF7L2 ที่ตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตต่ำ จะทำให้ประสิทธิภาพการย่อยคาร์โบไฮเดรตลดลง ส่งผลให้มีโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักตัวได้มากกว่าคนอื่น คนที่มียีน APOA2 ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นหรือลดลง แปรผันตามปริมาณที่บริโภค ในทางตรงกันข้าม คนที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่ว่าจะควบคุมการบริโภคไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 22 กรัมต่อวัน ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเท่าเดิม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ลดน้ำหนักตัวลงได้ยากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ คนที่มีกลุ่มยีนที่ตอบสนองต่อการรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม ผิดปกติ ก็จะทำให้บริโภคอาหารที่มีรสชาติเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป และอาจส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน

การตรวจว่าคุณมียีนที่ตอบสนองต่อสารอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้นผิดปกติหรือไม่ สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและสังเกตความสัมพันธ์กับค่าน้ำหนักตัว หรือการตรวจโภชนพันธุศาสตร์ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ข้อแนะนำทั่วไป สำหรับคนที่มีกลุ่มยีนที่ตอบสนองต่อความอยากอาหาร คาร์โบไฮเดรต ไขมัน รวมทั้งการตอบสนองต่อการรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม ผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้สอดคล้องกับความต้องการสารอาหารและประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มยีนของบุคคลนั้น ๆ อาทิเช่น การหลีกเลี่ยง ลดปริมาณการบริโภค หรือออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญอาหาร และในกรณีคนที่มียีนที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ไม่ดี สามารถแก้ไขโดยการกินอาหารให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มระยะเวลาการย่อยคาร์โบไฮเดรต

ที่มารูป : Times of India