Vitamin E Deficiency

ภาวะการขาดวิตามินอี พบได้น้อยมากในคนทั่วไปที่มีสุขภาพดี การขาดวิตามินอี มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาสุขภาพ อาทิเช่น กล้ามเนื้ออักเสบ การสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ปัญหาสุขภาพตา ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รวมทั้งสาเหตุจากพันธุกรรม

ในภาวะโภชนาการทั่วไป ร่างกายจะได้รับวิตามินอี ในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว วิตามินอีพบมากในน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณวิตามินอี มิลลิกรัม (mg) ต่อ 100 กรัม ของน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เท่ากับ 48.7 น้ำมันปาล์ม 25.6 และ น้ำมันถั่วเหลือง 10.1 เป็นต้น ในขณะที่ปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน เพียงแค่ 15 mg เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป มากกว่า 1,000 mg ต่อวัน จะเกิดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก (Bleeding)

เมื่อร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามินอี ซึ่งละลายอยู่ในไขมัน จะถูกซึมที่ลำไส้เล็กและส่งต่อไปยังกระแสเลือด โดยที่ตับจะเป็นอวัยวะที่ดูดซึมและเก็บกักวิตามินอีเพื่อนำไปใช้งานมากที่สุด วิตามินอี ทำหน้าที่หลักเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย นอกจากนี้ จากงานวิจัยทางการแพทย์ยังพบว่า วิตามินอี มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งต่อมลูกหมาก ต้อกระจกตา ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่ง และภาวะมีบุตรยากในเพศชาย

ในมุมของ #โภชนพันธุศาสตร์ ระดับของวิตามินอี มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งกลายพันธุ์เฉพาะจุด (SNP) ของยีน CYP4F2, SCARB1 และ APOA5 ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซึมไขมัน และระดับไขมันและวิตามินอีในเลือด ทำให้เกิดภาวะการขาดวิตามินอี

ในการศึกษาในปัจจุบัน นักวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินอี มีความสัมพันธ์กันอย่างมากกับวิตามินซี วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) เซเลเนียม และกลูตาไธโอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างวิตามินอี และวิตามินซี … ดังนั้น เราควรได้รับวิตามินอี พร้อมกับ วิตามินหรือสารอาหารประเภทอื่นในปริมาณที่เหมาะสมพอดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย …. ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำล่าสุดของ Dietary Guidelines for Americans 2020 – 2025 ระบุว่า “การรับประทานอาหาร จะได้สารอาหารที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม การเสริมสารอาหารบางประเภทที่ร่างกายต้องการมากขึ้น ควรจะอยู่ในรูปแบบอาหาร (Food) ที่รับประทานเพิ่มเข้าไป และใช้อาหารเสริม (Supplement) ในบางช่วงเวลาที่ต้องการมากเป็นพิเศษ เช่น ช่วงระยะเวลาตั้งครรภ์)

สำหรับวิตามินอีและประโยชน์ต่อผิวพรรณ ในด้านการยับยั้งการเสื่อมสภาพของผิวและช่วยชะลอความแก่ ปัจจุบันยังมีข้อโต้แย้งและยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม วิตามินอีสามารถใช้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเซลล์ผิวหนังสำหรับคนที่มีผิวแห้งกร้าน ช่วยเป็นเกราะป้องกันแสงแดด ช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวที่เสียหาย ลดริ้วรอย กรณีคนที่มีผิวมันและผิวที่เป็นสิวง่าย การใช้วิตามินอีกับผิวอาจจะไม่จำเป็น หรือเกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อย

ที่มารูป : Food and Wine Magazine