Vitamin D and Calcium

ท่านทราบหรือไม่ว่า … ภาวะการขาดวิตามินดี ร่างกายจะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงร้อยละ 10 -15 ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง

วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมวลกระดูก การขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขาดแคลเซียม ส่งผลให้เกิดสภาะกระดูกพรุน รวมทั้ง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองอุดตัน โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

เมื่อพิจารณาด้านพันธุศาสตร์ ปัจจัยทางพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อสภาวะการขาดวิตามินดีค่อนข้างน้อย โดยมียีน GC ที่สร้างโปรตีนจับวิตามินดี (Vitamin D-binding protein) ทำหน้าที่จับวิตามินดีในกระแสเลือด จากนั้นจึงนำวิตามินดีเข้าสู่กระบวนการเมตาบอลิซึมเพื่อดูดซึมแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากท่านมียีน GC ทำงานผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดสภาวะการขาดวิตามินดี มากกว่าคนทั่วไป “ถ้าร่างกายขาดวิตามินดี จะทำให้กระบวนการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ได้เพียงร้อยละ 10 – 15 จากอาหารที่รับประทานเข้าไป” นอกจากนี้ วิตามินดียังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสายเปปไทด์ต้านจุลชีพในการป้องกันการติดเชื้อโรคบางกลุ่ม อาทิเช่น โรคติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ในแต่ละวัน ร่างกายควรได้รับวิตามินดี อย่างน้อย 15 – 20 ไมโครกรัม (หรือ 400 – 800 IU) การรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ น่าจะเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินดี หรือเกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูงจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับวิตามินดีจากอาหารเสริม (ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์) อย่างไรก็ตาม สังเกตด้วยว่า โดยปกติ ร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายนั้นได้มาจากการสังเคราะห์รังสี UVB ที่ผิวหนัง การได้รับวิตามินดีจากแสงแดด หรือ “Sunshine vitamin” วิตามินดีจะสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานกว่าวิตามินดีที่ได้จากการรับประทานอาหาร 2 -3 เท่า และจะไม่เกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูง เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการสลายวิตามินดีส่วนเกินที่สังเคราะห์จากทางผิวหนังออกไป

ในประเทศเขตร้อน (ประเทศไทย) วิตามินดีจะถูกสังเคราะห์ได้ดีที่สุดในช่วงเวลา 10:00 – 15:00 ของวัน ในข้อแนะนำทั่วไป ร่างกายควรได้รับแสงแดด เป็นเวลาอย่างน้อย 20 – 30 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระดับโคเลสเตอรอลในชั้นผิวหนังของแต่ละบุคคลที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี และปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เมฆ หรือฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของรังสี UVB ในแสงแดด ถูกกรองเหลือเพียงแค่ 40 – 50% ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อกลไลการสังเคราะห์วิตามินดี

สิ่งที่เป็นข้อกังวลเรื่อง วิตามินดีกับสุขภาพ คือ สภาวะการขาดวิตามินดี จะสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกรณีการขาดวิตามินดี ที่ไม่อยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน และโรคร้ายแรงอื่น ๆ เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น โดยที่การรักษาทำได้ค่อนข้างยาก ผู้ที่มีความใส่ใจด้านสุขภาพ อาจจะใช้วิธีกรณีเลวร้ายสุด (Worst case) โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพียงพอ ประกอบกับทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส หรือการตรวจวัดระดับวิตามินดีในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมในระยะเริ่มต้น

ที่มารูป : movementality