Food Intolerance

ภูมิแพ้อาหารแฝง แพ้แต่ไม่รู้ตัว

หลายคนมักสงสัยว่าตนเองแพ้อาหาร แต่ความเป็นจริงแล้วในผู้ใหญ่มีอาการแพ้อาหาร (Food Allergy) เพียง 1-2% เท่านั้น ที่เป็นสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกัน (IgE antibody) ส่วนใหญ่เป็นการแพ้อาหารที่ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (IgG antibody) หรือที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง”

ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) คือ อาการไม่พึงประสงค์จากอาหารที่ไม่ได้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน แต่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญและระบบทางเดินอาหารที่ไม่สามารถย่อยสารอาหารชนิดนั้นได้สมบูรณ์ หรืออาจเกิดจากการอักเสบในร่างกายที่ทำให้ย่อยอาหารชนิดนั้นได้ไม่ดี เช่น อาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง อาหารแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารกระตุ้นการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน

สังเกตด้วยว่า อาการแพ้อาหารแฝงไม่เกิดขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหารชนิดนั้น ต่างจากการแพ้อาหาร (Food Allergy) ที่จะเกิดขึ้นทันทีหรือภายใน 1-2 ชั่วโมง ภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นผลจากการก่อตัวของ IgG antibody ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน หลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น มักมีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง ด้วยเหตุนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ มักเป็นอาการเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพแบบไม่รู้ตัว รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาการที่พบได้บ่อย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นผื่นคัน ลำไส้แปรปรวน ปวดศีรษะหรือไมเกรน ไอ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ลมพิษ มีแก๊สในท้อง เกิดภาวะลำไส้รั่ว (Leaky gut) น้ำหนักขึ้นง่าย เป็นสิวไม่หาย เป็นต้น

การแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝง แตกต่างกันอย่างไร

การแพ้อาหาร (Food Allergy)
    • Antibody IgE
    • เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้
    • มีอาการทันทีหลังทานอาหาร หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง
    • เป็นตลอดชีวิต
    • อาการอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เช่น หายใจลำบาก บวมตามใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หมดสติ เป็นต้น
ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance)
    • Antibody IgG
    • เกิดจากการขาดเอนไซม์หรือร่างกายไวต่อสารอาหารนั้น
    • มีอาการหลังจากทานอาหารไปแล้วหลายชั่วโมง
    • มีเปลี่ยนแปลงหรือหายขาดได้ เมื่อทราบสาเหตุ โดยใช้การหลีกเลี่ยงหรือรักษาที่ตรงจุด
    • อาการไม่รุนแรง แต่มักทำให้เกิดความรำคาญจากอาการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลต่อสุขภาพองค์รวม

การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง

เป็นการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG) เพื่อดูว่าภูมิแพ้อาหารแฝงต่ออาหารชนิดใดบ้าง ระดับ IgG น้อยกว่า 30 U/ml ถือเป็นลบ และระดับ IgG มากกว่าหรือเท่ากับ 30 U/ml ถือเป็นบวก สามารถตรวจสารก่อภูมิแพ้อาหารแฝงมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้งอาหารจากธรรมชาติและสารอาหารสังเคราะห์ หรือวัตถุเจือจนอาหาร อาหารที่พบเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไข่ นม ถั่วเหลือง ถั่วสิลง อาหารทะเล กลูเตน (ข้าวสาลี ข้าวไรซ์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต) รวมทั้งสารอื่น ๆ ที่ผสมในอาหาร เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สีผสมอาหาร วัตถุปรุงแต่งกลิ่นรส เป็นต้น ภูมิแพ้อาหารแฝงเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

    1. ร่างกายขาดเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการย่อยอาหารนั้น ๆ ทำให้ไม่สามารถย่อยหรือย่อยได้ไม่สมบูรณ์
    2. ร่างกายไวต่อสารบางชนิดในอาหาร มักมีอาการแสดงเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ มากเกินไป

ภูมิแพ้อาหารแฝง สามารถสำรวจเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ดังนี้

    • จดบันทึกอาหารที่รับประทานและอาการที่เกิดขึ้น
    • งดรับประทานอาหารที่สงสัยทีละชนิด เป็นเวลา 2-6 สัปดาห์
    • ลองกลับมาทานอาหารชนิดนั้นซ้ำ หากมีอาการอีกครั้ง เป็นไปได้ว่าอาหารชนิดนั้นเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารแฝง

ทั้งนี้ ภูมิแพ้อาหารแฝงไม่ใช่การแพ้อาหาร ยังสามารถรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้ สิ่งสำคัญคือปริมาณที่รับประทาน ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานจนกว่าอาการจะหายไป และสามารถกลับมารับประทานได้ในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อสังเกตุดูปริมาณที่ร่างกายสามารถทนต่ออาการกำเริบได้

อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่แสดงอาหารทันทีเหมือนการแพ้อาหาร ดังนั้น การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันและรักษา หรือรู้เท่าทันสภาวะร่างกาย ถึงแม้อาการไม่พึงประสงค์ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญใจในการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย การทราบสาเหตุที่แน่ชัดย่อมเป็นผลที่ดีต่อการป้องกันและรักษาอาการเรื้อรังต่าง ๆ ได้

ที่มารูป : wikihow.health