ยีนส่งผลต่อความต้องธาตุเหล็กในร่างกายอย่างไร ?
ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่คอยจับกับออกซิเจนและส่งต่อไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งทำหน้าที่ในกระบวนการเมตาโบลิซึมของเซลล์และเป็น Co-factor ของเอนไซม์หลายชนิด เหล็กที่อยู่ในร่างกายจะกระจายอยู่ในหลาย ๆ ส่วน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเม็ดเลือดแดง และอยู่ในทรานสเฟอร์ริน (Transferrin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เก็บธาตุเหล็กในกระแสเลือด ในสภาวะปกติ ร่างกายจะมีปริมาณของธาตุเหล็กที่จับอยู่กับทรานสเฟอร์ริน (Serum Iron) อยู่ระหว่าง 50-150 ug/dL
เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็ก จะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง ง่วงนอนบ่อย ผิวซีด (เหลือง) เล็บหักง่าย ผมร่วง ปวดศรีษะ หายใจสั้น มีอัตราเต้นของหัวใจไม่ปกติ ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน/การทำงาน รวมทั้งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและสมองลดลง และทำให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ในทางตรงกันข้าม ถ้าร่างกายอยู่ในภาวะเหล็กเกินก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายด้วยเช่นกัน เช่น ทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง ตับ กล้ามเนื้อ และหัวใจ เกิดอาการข้ออักเสบ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตับแข็ง เบาหวาน และอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อรับประทานวิตามินซีหรืออาหารที่มีวิตามินซีสูง เนื่องจากวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้ดียิ่งขึ้น
ภาวะการขาดธาตุเหล็ก โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากภาวะโภชนาการ และสามารถรักษาได้โดยง่ายด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก หรือในรูปแบบอาหารเสริม นอกจากนี้ การขาดธาตุเหล็กอีกสาเหตุหนึ่ง มาจากยีน TF ซึ่งทำหน้าที่สร้างโปรตีนทรานสเฟอร์ริน ทำหน้าที่ขนส่งธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์ตับ ม้าม และไขกระดูก ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้ง ยีน TMPRSS6 ซึ่งเป็นยีนที่สร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเฮปซิดิน (Hepcidin) ซึ่งเป็นเอนไซน์ที่สร้างจากตับ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้ ทำงานผิดปกติ ในกรณีนี้ ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ แม้ว่าจะได้รับธาตุเหล็กจากอาหาร หรืออาหารเสริมก็ตาม ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยปกติ ชายและหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับธาตุเหล็ก 10 และ 15 มิลลิกรัมต่อวัน และคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับอย่างน้อยวันละ 27 มิลลิกรัม อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือด เครื่องในสัตว์ ตับหมู ไก่ ปลาแซลมอล รวมทั้งผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ควรได้รับธาตุเหล็กในปริมาณ 1.8 เท่าของคนปกติ (เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารพวก พืชผัก ข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ได้น้อย เพียง 3-5% เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ 10-15%) สังเกตด้วยว่า อาหารบางประเภทอาจจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกาย เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ชา กาแฟ ถั่ว รวมทั้งยาบางประเภท ในทางตรงข้าม อาหารที่ช่วยเสริมการดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม มะนาว กีวี และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งควรรับประทานอาหารเหล่านี้ระหว่างรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
ที่มารูป : healthydirections