Fat Gene

ยีนอ้วน … กรรมพันธุ์อ้วน-ผอม มีอยู่จริงหรือ ?

ทำไมบางคนทานเท่าไรก็ไม่อ้วน บางคนหิวบ่อย บางคนชอบทานแป้ง ชอบขนมหวาน ของทอด อาหารสเค็ม แต่ทำไมคุณทานแค่นิดเดียว น้ำหนักก็ไม่ลดลงซักที เมื่อตัดปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม Enjoy eating ออกไปแล้ว … หรือว่า คุณจะมียีนอ้วน จริง ๆ

เมื่อมองในมุม #โภชนพันธุศาสตร์ ยีนอ้วน นั้นไม่มีจริง แต่จะมีกลุ่มของยีนบางตัวที่ตอบสนองต่อสารอาหารและอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวโดยตรง อาทิเช่น ความอยากอาหาร การตอบสนองคาร์โบไฮเดรต การตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว รวมทั้ง การรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม

คุณอาจจะมียีนตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลาย ๆ ตัวรวมกัน ทำงานได้ไม่ดี หรือทำงานผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ยีน FTO ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) ที่หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร จะส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิวและทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหาร รวมทั้งยีน MC4R ที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวในต่อมใต้สมอง คนที่มียีนดังกล่าวนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้มีความอยากอาหารและรู้สึกหิวมากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

คนที่มียีน TCF7L2 ที่ตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตต่ำ จะทำให้ประสิทธิภาพการย่อยคาร์โบไฮเดรตลดลง ส่งผลให้มีโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักตัวได้มากกว่าคนอื่น คนที่มียีน APOA2 ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นหรือลดลง แปรผันตามปริมาณที่บริโภค ในทางตรงกันข้าม คนที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่ว่าจะควบคุมการบริโภคไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 22 กรัมต่อวัน ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเท่าเดิม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ลดน้ำหนักตัวลงได้ยากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ คนที่มีกลุ่มยีนที่ตอบสนองต่อการรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม ผิดปกติ ก็จะทำให้บริโภคอาหารที่มีรสชาติเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป และอาจส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน

การตรวจว่าคุณมียีนที่ตอบสนองต่อสารอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้นผิดปกติหรือไม่ สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและสังเกตความสัมพันธ์กับค่าน้ำหนักตัว หรือการตรวจโภชนพันธุศาสตร์ ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ข้อแนะนำทั่วไป สำหรับคนที่มีกลุ่มยีนที่ตอบสนองต่อความอยากอาหาร คาร์โบไฮเดรต ไขมัน รวมทั้งการตอบสนองต่อการรับรสหวาน รสมัน และรสเค็ม ผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้สอดคล้องกับความต้องการสารอาหารและประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มยีนของบุคคลนั้น ๆ อาทิเช่น การหลีกเลี่ยง ลดปริมาณการบริโภค หรือออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญอาหาร และในกรณีคนที่มียีนที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ไม่ดี สามารถแก้ไขโดยการกินอาหารให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มระยะเวลาการย่อยคาร์โบไฮเดรต

ที่มารูป : Times of India

Vitamin B6 – Skin Friend

วิตามินบี 6 เพื่อนแท้ของผิว ความลับที่ถูกเปิดเผย

วิตามินบี 6 หรือ Pyridoxine เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้เอง ต้องอาศัยการดูดซึมจากอาหารที่รับประทานเท่านั้น การทำงานของวิตามินบี 6 จะอยู่ในรูป Pyridoxal 5’ Phosphate หรือ PLP ซึ่งเป็นโคเอนไซม์ทำหน้าที่ช่วยเอนไซม์ในการย่อยคาร์โบไฮเดรท ไขมัน และโปรตีน เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงสมอง รวมทั้ง PLP ยังช่วยการทำงานของเอนไซม์กว่าร้อยชนิด ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น วิตามินบี 6 จึงเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากในกลุ่มวิตามินบี ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ดังนี้

    • ช่วยป้องกันความเสียงของภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์
    • ช่วยลดภาวะซึมเศร้า ทำให้อารมณ์ดี และช่วยในการนอนหลับ
    • ช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง
    • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
    • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมาเร็ งบางประเภท ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เต้านม และต่อมลูกหมาก
    • ช่วยลดอาการวัยทองสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

โดยทั่วไป ร่างกายเราได้รับวิตามินบี 6 จากการรับประทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอ อาทิเช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องใน ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช ปลาทะเล อาหารทะเล ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดวิตามินบี 6 มักมีสาเหตุมาจาก

    • ร่างกายมีความสามารถในการดูดซึมวิตามินบี 6 ได้น้อย (เนื่องจาก ยีน ALPL ในร่างกาย ที่ทำหน้าที่ย่อยวิตามินบี 6 และผลิตเอนไซม์ที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี 6 มีลักษณะพันธุกรรมบางประเภท ที่ส่งผลให้ยีน ALPL ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายบางคนดูดซึมวิตามินบี 6 ได้น้อยกว่าคนอื่น ซึ่งโดยสถิติ คนเอเชียจะมีพันธุกรรมประเภทนี้ มากถึงร้อยละ 44)
    • ผู้ติดสุราเรื้อรัง
    • ผู้ป่วยโรคไต และโรคแพ้ภูมิตัวเอง
    • การฟอกเลือด
    • การใช้ยายาปฏิชีวนะบางชนิด

ภาวะการขาดวิตามินบี 6 สามาถสังเกตได้จากอาการที่มีภาวะโลหิตจาง มีผื่นคัน แพ้ที่ผิวหนัง ริมฝีปากแห้ง มีภูมิต้านทานต่ำ ชาที่มือและเท้า สมองล้า และร่างกายอ่อนล้าไม่มีเรี่ยวแรง

Vitamin B6 – Skin Friend

ในช่วงต้น ค.ศ. 1900 มีงานวิจัยที่สำคัญพบว่า วิตามินบี 6 มีส่วนช่วยลดกระบวนการสร้างใหม่ของเซลล์ที่ทำให้ผิวหนังแห้ง และทำให้ดูแก่ก่อนวัย (Premature aging) ในปี 1934 นักชีวเคมีชาวอเมริกัน Paul Gyorgy ได้ทดลองให้หนูกินอาหารที่ปราศจากวิตามินบี 6 พบว่า หนูมีอาการแพ้ทางผิวหนัง หลังจากนั้น ได้ให้หนูกินอาหารที่มีวิตามินบี 6 ในระดับที่เหมาะสม ผลปรากฎว่า หนูไม่มีอาการภูมิแพ้อีกต่อไป  … ต่อมา วิตามินบี 6 ถูกค้นพบว่า เป็นสารต้านฮีสตามีนธรรมชาติ (Anti-histamine) ซึ่งมีความสามารถในการลดภาวะการไม่ทนต่อฮีสตามีน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สารที่ช่วยลดอาการแพ้ทางผิวหนังซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือสัมผัสสิ่งกระตุ้นการแพ้โดยตรง

การตรวจภาวะการขาดวิตามินบี 6 สามารถทำได้โดยการวัดระดับ PLP ในเลือด หรือการตรวจ #ดีเอ็นเอ ในห้องปฏิบัติการ การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการขาดวิตามินบี 6 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีภาวะการขาดวิตามินบี 6 ที่มีสาเหตุจากโรคและการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อแนะนำทั่วไป (RDA) ร่างกายควรได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณ 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน และอาจเพิ่มปริมาณ 10 -20%* สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะการขาดวิตามินบี 6 (*ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของยีน ALPL ของแต่ละบุคคล) นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานวิตามินบี 6 ที่เป็นอาหารเสริมเพียงตัวเดียว ควรรับประทานวิตามินบี 6 ในรูปวิตามินบีรวม หรือ วิตามินบีคอมเพล็กซ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากการรับประทานวิตามินบี 6 มากเกินขนาด (มากกว่า 100 -300 มิลลิกรัมต่อวัน)

ที่มารูป: expertreviews

Traffic AI

Smart Mobility – KinYooDee รวบรวมข้อมูลจราจรจากหลายแหล่งแบบเรียลไทม์ และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Traffic AI Data Fusion) ประมวลผลความเร็วของกระแสจราจร เพื่อใช้แจ้งเตือนสภาพการจราจรติดขัดในเส้นทางล่วงหน้า #TrafficAlert เตือนก่อนติดเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทาง …

Salt Taste Receptor

เคยสงสัยว่าทำไม บางคนจึงทานอาหารรสเค็มมากกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากยีน

มนุษย์เราสามารถรับรสได้ 5 รส ได้แก่ หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม (และอูมามิ) โดยที่ รสเค็ม มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด คนไทยติดเค็มจากวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรัง ซึ่งต้องรักษาต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2564 คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน  และมีแนวโน้มว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15 – 20% ต่อปี (ข้อมูลจาก DBMS Wellness) ความชอบในการรับประทานอาหารรสเค็ม มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1) ความชอบรับประทานอาหารรสเค็มเกิดจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่เรารับรู้เสมอว่า อาหารนั้นมีรสเค็ม (อร่อยพอดี) และเกิดเป็น “พฤติกรรมความชอบ หรือระดับความเค็มที่ชอบ (Bliss point)” จากผลสำรวจพฤติกรรมการกินของคนไทย คนไทยเลือกกินอาหารด้วยปัจจัยความชอบมากที่สุด รองลงมาคือ รสชาติ และความอยาก (ข้อมูลจาก EIC 2560)

2) ความชอบรสเค็มโดยไม่รู้ตัว ที่มีสาเหตุมาจากยีน SCNN1B และ/หรือ TRPV1 ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะติดรสเค็มได้มากกว่าคนอื่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องรับประทานเกลือในปริมาณที่มากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะให้ได้รสเค็ม หรือระดับความเค็มที่ชอบ ที่เท่ากัน

การลดการติดเค็มที่เกิดจากพฤติกรรม สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยง หรือลดการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มลงทีละน้อย อย่างต่อเนื่อง (ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เราสามารถลดปริมาณความเค็มลง 10- 15% โดยไม่สามารถสังเกตถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป) สมองจะถูกฝึกฝนให้เกิดความชอบอาหารที่มีรสเค็มลดลง จนกระทั่ง เราจะมีความชอบ หรือ Bliss point ต่อรสเค็มลดลง ในที่สุด

คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เรามีความชอบรสเค็มที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม … นอกจากการตรวจ #โภชนพันธุศาสตร์ ที่เป็นการวิเคราะห์ปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหาร (โซเดียม) กับลักษณะทางพันธุกรรมแล้ว เราสามารถทำการทดลองง่าย ๆ โดยสอบถามเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารเพื่อหาระดับความเค็มที่ชอบของเราว่ามีความแตกต่างกับเพื่อนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้เครื่องวัดความเค็มในอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งอยู่ในระดับความเค็มที่เราชอบ (เรารู้สึกว่ามันเค็มกำลังดี ไม่น้อยไป หรือเค็มมากไป) และใช้เครื่องวัดความเค็ม ได้ปริมาณโซเดียม มากกว่า 0.9 % (ซึ่งสูงกว่าปริมาณโซเดียมในเลือด) แสดงว่าเราติดรสเค็ม และถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม การติดรสเค็มของเราอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม

การติดรสเค็มนอกจากจะทำให้เกิดโรคโรคไตเรื้อรังแล้ว ยังก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา อาทิเช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลิกรัมต่อวัน หรือเกลือป่นไม่เกิน 1 ช้อนชา (หรือ 5 กรัม) โดยให้หลีกเลี่ยงการได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไปจากพฤติกรรมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงผงปรุงรส ผงชูรส น้ำจิ้ม อาหารแปรรูป/หมักดอง ลดการรับประทานอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุป รวมทั้งอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง โดยดูที่ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

การรับรสเค็ม – Salt Taste Receptor

ที่มารูป: insider

Vitamin D and Calcium

ท่านทราบหรือไม่ว่า … ภาวะการขาดวิตามินดี ร่างกายจะสามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงร้อยละ 10 -15 ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง

วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมวลกระดูก การขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขาดแคลเซียม ส่งผลให้เกิดสภาะกระดูกพรุน รวมทั้ง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองอุดตัน โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

เมื่อพิจารณาด้านพันธุศาสตร์ ปัจจัยทางพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อสภาวะการขาดวิตามินดีค่อนข้างน้อย โดยมียีน GC ที่สร้างโปรตีนจับวิตามินดี (Vitamin D-binding protein) ทำหน้าที่จับวิตามินดีในกระแสเลือด จากนั้นจึงนำวิตามินดีเข้าสู่กระบวนการเมตาบอลิซึมเพื่อดูดซึมแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากท่านมียีน GC ทำงานผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดสภาวะการขาดวิตามินดี มากกว่าคนทั่วไป “ถ้าร่างกายขาดวิตามินดี จะทำให้กระบวนการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ได้เพียงร้อยละ 10 – 15 จากอาหารที่รับประทานเข้าไป” นอกจากนี้ วิตามินดียังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสายเปปไทด์ต้านจุลชีพในการป้องกันการติดเชื้อโรคบางกลุ่ม อาทิเช่น โรคติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ในแต่ละวัน ร่างกายควรได้รับวิตามินดี อย่างน้อย 15 – 20 ไมโครกรัม (หรือ 400 – 800 IU) การรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ น่าจะเป็นแนวทางปฎิบัติที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินดี หรือเกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูงจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับวิตามินดีจากอาหารเสริม (ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์) อย่างไรก็ตาม สังเกตด้วยว่า โดยปกติ ร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายนั้นได้มาจากการสังเคราะห์รังสี UVB ที่ผิวหนัง การได้รับวิตามินดีจากแสงแดด หรือ “Sunshine vitamin” วิตามินดีจะสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานกว่าวิตามินดีที่ได้จากการรับประทานอาหาร 2 -3 เท่า และจะไม่เกิดสภาวะพิษจากวิตามินดีสูง เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการสลายวิตามินดีส่วนเกินที่สังเคราะห์จากทางผิวหนังออกไป

ในประเทศเขตร้อน (ประเทศไทย) วิตามินดีจะถูกสังเคราะห์ได้ดีที่สุดในช่วงเวลา 10:00 – 15:00 ของวัน ในข้อแนะนำทั่วไป ร่างกายควรได้รับแสงแดด เป็นเวลาอย่างน้อย 20 – 30 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระดับโคเลสเตอรอลในชั้นผิวหนังของแต่ละบุคคลที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี และปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เมฆ หรือฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของรังสี UVB ในแสงแดด ถูกกรองเหลือเพียงแค่ 40 – 50% ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อกลไลการสังเคราะห์วิตามินดี

สิ่งที่เป็นข้อกังวลเรื่อง วิตามินดีกับสุขภาพ คือ สภาวะการขาดวิตามินดี จะสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกรณีการขาดวิตามินดี ที่ไม่อยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน และโรคร้ายแรงอื่น ๆ เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น โดยที่การรักษาทำได้ค่อนข้างยาก ผู้ที่มีความใส่ใจด้านสุขภาพ อาจจะใช้วิธีกรณีเลวร้ายสุด (Worst case) โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพียงพอ ประกอบกับทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส หรือการตรวจวัดระดับวิตามินดีในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมในระยะเริ่มต้น

ที่มารูป : movementality

Thamturakit x Kinyoodee

ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม ” ปลูก ” x กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม ” จัดส่ง ” ผักผลไม้ ไข่ไก่ ประมงพื้นบ้าน ปราศจากสารเคมี จากเครือข่ายศิษย์ยักษ์กะโจน ทั่วประเทศ

Alcohol Flush

ดื่มแอลกอฮอล์แล้วหน้าแดงเลือดฝาด คิดว่าเลือดลมสูบฉีดดี … เป็นความเชื่อที่ผิด !

เมื่อเหล้าไหลลงคอนักดื่มแล้ว แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านกะเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเลือดที่มีแอลกอฮอล์ไหลผ่านไปที่ตับ ยีนที่มีชื่อว่า ADH1C ที่อยู่ที่ตับ จะสร้างเอนไซม์ Alcohol Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นสารอะเซตัลดีไฮด์ คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานมากกว่าคนอื่น) เวลาดื่มเหล้า ร่างกายจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นอะเซตัลดีไฮด์ได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ในเลือดเพิ่มสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง หรือมีผื่นแดงขึ้นที่ตามลำตัว ใจสั่น หายใจสั้น ปวดหัว

หลังจากที่แอลกอฮอล์ถูกเปลี่ยนเป็นอะเซตัลดีไฮด์แล้ว ยีนที่ตับอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ALDH2 จะสร้างเอ็นไซม์ Aldehyde Dehydrogenase เพื่อเปลี่ยนอะเซตัลดีไฮด์ให้กลายเป็นกรดอะซิติก (หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่พบได้ในธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนที่ไม่เป็นอันตราย) กลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ และขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย คนที่มียีนนี้ทำงานผิดปกติ (ทำงานได้น้อยกว่าคนอื่น) ร่างกายจะย่อยสลายอะเซตัลดีไฮด์ได้ไม่ดี ส่งผลให้อะเซตัลดีไฮด์ยังคงสะสมอยู่ในเลือด และถูกดูดซึมผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง เซลล์ประสาท กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อร่างกายจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากยีน ADH1C และ ALDH2 ทำงานผิดปกติด้วยกันทั้งคู่

อะเซตัลดีไฮด์ที่ขับออกจากร่างกายไม่หมด จะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ไปนาน ๆ จะทำให้ตับโดนทำลายจนเกิดเป็นอาการ ตับแข็ง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และมะเร็งตับ หากคุณมียีนตัวใดตัวนึง หรือยีนทั้งคู่นี้ผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการดื่ม ไม่เกินวันละ 1 drink หรือเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋องเล็ก

#กินอยู่ดีแพลตฟอร์ม #โภชนพันธุศาสตร์ #ดีเอ็นเอ

ที่มารูป : baytoday

Nutrition DNA Test

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ กินอยู่ดี แพลตฟอร์ม พัฒนาโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมโภชนพันธุศาสตร์บนแพลตฟอร์มกินอยู่ดี” โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ในโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ รายงานผลการทดสอบโภชนพันธุศาสตร์ (DNA test for nutrition and diet) บนแพลตฟอร์มกินอยู่ดี ศึกษาประสบการณ์ของกลุ่มตัวอย่างเพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพตนเอง รวมทั้ง การประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันกินอยู่ดี – KinYooDee App เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชากรไทย

ที่มารูป : wellnessdoctorrx

Nutrigenomics

โภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics) เป็นการศึกษาปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารกับลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งอาศัยการตรวจดีเอ็นเอในตำแหน่งต่าง  ๆ ในการตอบสนองของร่างกายต่อสารอาหาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการโภชนาการอาหาร การวางแผนการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพองค์รวม หัวข้อด้านล่างเป็นตัวอย่างการทดสอบพันธุกรรม ที่อาจมีอิทธิพลต่อสารอาหารของแต่ละบุคคล และ เหตุผลว่าทำไม ? การตรวจโภชนพันธุศาสตร์ จึงมีความสำคัญ

  • การตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ (Alcohol Flush)

การแพ้แอลกอฮอล์ นอกจากจะทำให้เกิดอาการหน้าแดงหรือมีผื่นขึ้นที่ตามลำตัวแล้ว ผู้ดื่มแอลกอฮอล์อาจจะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ และง่วงนอน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่ไม่สามารถจัดการสารอะซิทัลดีไฮด์ที่มีอยู่ในแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายได้เร็วเท่าที่ควร หากท่านมีพันธุกรรมนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการบริโภค เนื่องจากอะซิทัลดีไฮด์จะเก็บสะสมอยู่ที่ตับ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

  • ความอยากอาหาร (Appetite)

แต่ละบุคคลจะมีพันธุกรรมที่ตอบสนองต่อความอยากอาหารต่างกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่ช่วยส่งเสริมความอยากอาหาร ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ดังนั้น ควรปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตลง

  • เบต้าแคโรทีน/ วิตามินเอ (Beta-Carotene/ Vitamin A)

วิตามินเอ มีประโยชน์ช่วยในการมองเห็น ช่วยการเจริญเติบโตของร่างกายผิวพรรณและผม รวมทั้งยังช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่แปลงเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอ ทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะการขาดวิตามินเอ ดังนั้น ควรบริโภคอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอมากกว่าปกติ ในทางตรงกันข้าม ระดับวิตามินเอในร่างกายที่มากเกินไป จะส่งผลให้เกิดพิษและความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคมะเร็งปอด

  • การตอบสนองต่อกาเฟอีน (Caffeine Sensitivity)

การตอบสนองต่อกาเฟอีนขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กาเฟอีนอยู่ในร่างกาย การเผาผลาญกาเฟอีนได้เร็ว หรือช้า การที่กาเฟอีนอยู่ในร่างกายในระยะเวลานานจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่ที่มีอิทธิพลต่อการเผาผลาญกาเฟอีนในร่างกาย ยกตัวอย่าง ผู้ที่มียีนที่มีการตอบสนองต่อกาเฟอีนมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ร่างกายเผาผลาญกาเฟอีนได้ช้า ควรจะหลีกเลี่ยงการบริโภคกาเฟอีน หรือจำกัดการบริโภค น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน

  • การขาดแคลเซียม (Calcium Deficiency)

ร้อยละ 99 ของแคลเซียมอยู่ในกระดูกและฟัน สาเหตุหลักของการขาดแคลเชียมมาจากการขาดวิตามินดี ที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย การขาดแคลเซียมทำให้เกิดสภาะกระดูกพรุน ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ ในทางตรงข้าม เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินไป จะมีแคลเซียมในกระแสเลือดมาก ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งบางประเภทตามมา อาทิเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งเม็ดเลือด ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยีนที่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และสามารถใช้ในการแนะนำปริมาณการบริโภคแคลเซียมที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  • การตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate Sensitivity)

แต่ละบุคคลมียีนที่สร้างเอ็นไซม์อะไมเลสในน้ำลายซึ่งทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้แตกต่างกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยีนที่มีอิทธิพลต่อการย่อยคาร์โบไฮเดรต เพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีพันธุกรรมที่ตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตต่ำ หรือมียีนที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตมีประสิทธิภาพน้อย จะมีโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักตัวจากการรับประทานอาหารได้มาก อย่างไรก็ตาม หากท่านมีพันธุกรรมดังกล่าว สามารถแก้ไขโดยการรับประทานอาหารให้ช้าลงและเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อเพิ่มระยะเวลาการย่อยคาร์โบไฮเดรต

  • การรับรสอาหารที่มีรสชาติมัน (Fat Taste)

อาการที่บางคนรับประทานอาหารที่มีรสมันแล้วรู้สึกว่ามันเลี่ยนเมื่อทานไปมาก ๆ แต่บางคนกลับทานอาหารสมันเหล่านี้ต่อไปได้โดยไม่รู้สึกเลี่ยน ความแตกต่างนี้อาจจะมีที่มาจากพันธุกรรม กลุ่มคนที่รับรสมันได้น้อยกว่าอาจจะเผลอรับประทานอาหารที่มีความมันมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความมันไม่ให้ทานมากเกินไป

  • ความต้องการโฟเลต (Folate)

การขาดโฟเลตจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางและภาวะสุขภาพอื่น ๆ อาทิเช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจสั้น ใจสั่น หน้ามืดบ่อย ความจำและทักษะทางความคิดลดลง รวมทั้งมีการปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการแปลงกรดโฟลิคเพื่อนำไปสร้างสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย หากท่านมีพันธุกรรมนี้ ภาวะการขาดโฟเลตอาจจะเกิดขึ้นและสังเกตได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าจะบริโภคอาหารที่มีโฟเลตในปริมาณที่แนะนำต่อวันแล้วก็ตาม

  • สภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance)

ปัญหาในการเผาผลาญน้ำตาลในนม หรือแลคโตสทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งมาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกเกิดจากยีนที่ช่วยสร้างเอ็นไซม์ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสมีประสิทธิภาพลดลง และเกิดจากความผิดปกติของลำไส้ ทำให้สูญเสียความสามารถในการเผาผลาญแลคโตสชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก ผลตรวจพันธุกรรม จะทำให้เราเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของสภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส ซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้ในห้องแล็บทั่วไป

  • โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 (Omega-3 and Omega-6 Level)

ในสมองของมนุษย์ประกอบด้วยไขมันร้อยละ 60 จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม กรดไขมันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเอง การขาดโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม ไขมันพอกตับ และโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ สัดส่วนที่ไม่เหมาะของโอเมก้า-6 ต่อ โอเมก้า-3 ยังก่อให้เกิดการอักเสบ โรครูมาตอยด์ และโรคหัวใจด้วยเช่นกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อระดับโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ในร่างกาย เพื่อใช้ในการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  • โอเมก้า-3 และ DHA (Omega-3 and DHA)

โอเมก้า 3 เป็นกลุ่มของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวชนิดหนึ่ง ตัวอย่างโอเมก้า 3 ที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กรดไขมันลิโนเลอิคชนิดแอลฟา (ALA) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนกรดไขมันนี้ให้เป็น DHA การรับประทานกรดไขมันเหล่านี้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปกติ ตัวอย่างอาหารที่มีโอเมก้า 3 มาก ได้แก่ ปลาทะเล อาหารทะเล เมล็ดเชีย และอาหารที่มีการเสริมโอเมก้า 3

  • การตอบสนองต่อเกลือและความดันโลหิต (Salt Hypertension Sensitivity)

การบริโภคเกลือโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไปส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะการตอบสนองต่อเกลือและความดันโลหิต มักจะไม่แสดงอาการเด่นชัด แต่อาจจะมีสัญญาญเตือนโดยมีค่าความดันโลหิตสูงขึ้นพร้อมกับอาการปวดศรีษะ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลการตอบสนองต่อเกลือและความดันโลหิต โดยทั่วไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคเกลือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากท่านมีพันธุกรรมนี้ ควรหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมลงน้อยกว่าค่าที่แนะนำ

  • การรับรสเค็ม (Salt Taste Receptor)

ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อการรับรสเค็ม หากท่านมีพันธุกรรมนี้ จะมีความชอบในการบริโภคอาหารรสเค็ม และบริโภคในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งส่งต่อผลให้เกิดโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคไต ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

  • การตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat Sensitivity)

ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อการตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัว ผู้ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคไขมันอิ่มตัวจะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพิ่มขึ้นหรือลดลง แปรผันตามปริมาณที่บริโภค ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ตอบสนองต่อไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่ว่าจะควบคุมการบริโภค ไม่เกิน 22 กรัมต่อวัน ยังคงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม การบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก จะเพิ่มระดับไขมันเลว LDL ในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

  • การตอบสนองต่อไขมันไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fat Sensitivity)

การรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะมีส่วนช่วยลดไขมันและโครเลสเตอรอลในเลือด ดังนั้น ควรเพิ่มอาหารที่มีส่วนของไขมันไม่อิ่มตัว หรือ แทนที่ไขมันอิ่มตัวด้วยไขมันไม่อิ่มตัว อาทิเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย อะโวคาโด น้ำมันมะกอก เมล็ดดอกทานตะวัน และถั่วชนิดต่าง ๆ

  • ธาตุเหล็ก (Serum Iron Level)

ธาตุเหล็กในร่างกายอาจมีทั้งน้อยไป หรือมากเกินไป การมีธาตุเหล็กในระดับต่ำจะส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง ในทางตรงข้าม ธาตุเหล็กในระดับสูงไปจะส่งผลให้เลือดเป็นพิษ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อระดับธาตุเหล็กในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มียีนที่ส่งผลต่อการผลิตธาตุเหล็กในปริมาณมาก จะทำให้เกิดโรคปวดตามข้อ ปวดหลัง อ่อนเพลีย โดยเฉพาะผู้ชายช่วงอายุ 30 – 50 ปี จะมีผลมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงมีการสูญเสียเลือดในระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กลง

  • การรับรสหวาน (Sweet Taste)

ผลตรวจพันธุกรรม หากท่านมียีนที่ส่งเสริมการรับรสหวาน ร่างกายจะสามารถรับรสหวานได้มาก แม้จะบริโภคอาหารที่มีรสหวานในปริมาณน้อย ในทางตรงข้าม หากท่านไม่มีพันธุกรรมดังกล่าว จะต้องบริโภคอาหารที่มีรสหวานในปริมาณมาก เพื่อให้ได้ระดับความหวานที่พึงพอใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

  • วิตามินบี 12 (Vitamin B12 Level)

หน้าที่สำคัญของวิตามินบี 12 คือการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมทั้งทำให้เซลล์มีความสมบูรณ์แข็งแรง โดยปกติร่างกายสามารถเก็บสะสมวิตามินบี 12 ไว้ในตับได้มากถึง 1,000 – 2,000 เท่าของปริมาณความต้องการต่อวัน เพื่อนำไปใช้ในวันที่มีไม่เพียงพอ การขาดวิตามินบี 12 จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดอาการชาในมือและเท้า และการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยีนที่มีอิทธิพลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 ในร่างกาย สังเกตด้วยว่า แม้ว่าร่างกายเกิดภาวะการขาดวิตามินบี 12 จะไม่สามารถตรวจพบได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากร่างกายสามารถนำเอาวิตามินบี 12 ที่เก็บสะสมไว้ มาใช้งานได้เป็นระยะเวลานานนับปี

  • วิตามินบี 6 (Vitamin B6 Level)

วิตามินบี 6 ละลายได้ในน้ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ การขาดวิตามินบี 6 จะทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง เกิดแผลที่ผิวหนัง และมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ ในทางตรงกันข้าม การได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณที่มากไป จะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังชนิดรุนแรงด้วยเช่นกัน ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อความต้องการวิตามินบี 6 ในปริมาณที่สูงขึ้นมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อาทิเช่น โรคมะเร็งลำไส้ ถ้าร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 6 ในปริมาณที่เพียงพอ

  • วิตามินซี (Vitamin C Level)

วิตามินซีช่วยบำรุงผิวพรรณ สร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสร้างและเก็บสะสมวิตามินซีได้ เมื่อร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ จะทำให้ผิวพรรณไม่สดใส มีเลือดออกขณะแปรงฟัน แผลหายช้า และมีภูมิคุ้มกันโรคลงต่ำลง และหากรับประทานมากเกินไป วิตามินซีจะถูกขับออกทางร่างกายพร้อมปัสสาวะ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะ ผลตรวจพันธุกรรม จะแสดงให้เห็นถึงยีนที่มีอิทธิพลต่อความต้องการวิตามินซีในร่างกาย ซึ่งระดับของวิตามินซียังส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกายด้วย

  • วิตามินดี (Vitamin D Level)

วิตามินดีช่วยร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมวลกระดูก การขาดวิตามินดี ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน และโรคมะเร็งบางประเภท ผลตรวจพันธุกรรม จะเแสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการขาดวิตามินดี และใช้ในการแนะนำปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

  • วิตามินอี (Vitamin E Level)

วิตามินอีเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยบูสต์การผลิตคอลลาเจน คืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิว รักษาผิวที่เสียหาย ลดริ้วรอย และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอีละลายในไขมันและเมื่อใช้ไม่หมดจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ โดยทั่วไป การขาดวิตามินอีมีสาเหตุหลักมาจากพันธุกรรม ซึ่งไม่พบบ่อยนัก และอาจจะพบในผู้ที่ควบคุมและจำกัดปริมาณการบริโภคไขมัน อย่างไรก็ตาม การขาดหรือการมีวิตามินอีในร่างกายในระดับที่มากเกินไปจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม

ที่มารูป : freethink (2022)