High HDL cholesterol

มีไขมันดี (HDL) สูงกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลร้ายต่อสุขภาพหรือไม่?

เราได้ยินมาเสมอว่า เราควรจะมีค่าไขมันเลว (LDL) ต่ำ และมีค่าไขมันดี (HDL) สูง ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี ค่า HDL น้อยกว่า 40 mg/dL จะส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ค่า HDL สูงกว่า 60 เป็นค่าถูกพิจารณาว่าส่งผลดีต่อสุขภาพมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่มี HDL ที่สูงกว่า 90 mg/dL จะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ปัจจัยพันธุกรรม การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) มากเกินไป การขาดสารอาหาร การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางประเภท และการดื่มแอลกอฮอล์

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นโครงสร้างของผนังเซลล์ และส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนที่สำคัญ อาทิเช่น เอสโตรเจน และเทสโทสเตอโรน สร้างวิตามินดีและน้ำดีสำหรับการย่อยไขมันในอาหาร โดยทั่วไปร่างกายสามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้เองจากตับและลำไส้ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหาร คอเลสเตอรอลพบมากในกลุ่มอาหารที่มาจากสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลบางชนิด ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงกว่าปกติ ก่อให้เกิดการเกาะตามผนังของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยปกติร่างกายสามารถรักษาความสมดุลของคอเลสเตอรอลให้คงที่อยู่เสมอ หมายความว่า เมื่อทานอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์มาก ตับจะลดการสร้างคอเลสเตอรอลลง และเมื่อทานอาหารกลุ่มพืชมาก ตับจะสร้างคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ

    1. คอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Lipoprotein: LDL) ทำหน้าที่ในการขนส่งคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการผลิตฮอร์โมน หรือสร้างผนังเซลล์ หากมีปริมาณเกินความต้องการของร่างกาย จะเกิดการเกาะตามผนังหลอดเลือดแดง ก่อให้เกิดการตีบของหลอดเลือดแดง และเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงเรียก LDL ว่า “ไขมันไม่ดี/ไขมันร้าย”
    2. คอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นสูง (High-Density Lipoprotein: HDL) ทำหน้าที่ในการดึงคอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี จึงเรียก HDL ว่า “ไขมันดี”

ระดับกลุ่มไขมันต่าง ๆ ตามข้อแนะนำ

    • Total cholesterol (คอเลสเตอรอลรวม) ต่ำกว่า 200 mg/dL
    • LDL ต่ำกว่า 130 mg/dL
    • HDL ผู้ชาย สูงกว่า 40 และผู้หญิง สูงกว่า 50 mg/dL

รายงานผลการศึกษาเป็นที่ชัดเจนว่า Total cholesterol และ LDL ที่สูงกว่าเกณฑ์เป็นผลโดยตรงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และระดับ HDL ที่ต่ำกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฯ ดังนั้น ตามคำแนะนำและความเข้าใจที่มีมานานได้มีการสนับสนุนให้เพิ่ม HDL เพราะเป็นไขมันที่ดี ช่วยลด LDL และยังส่งผลต่อคอเลสเตอรอลรวมที่ลดลง หน้าที่ของ HDL คือดึง Cholesterol (Cholesteryl ester) ส่วนเกินออกจากเซลล์ไปทำลายที่ตับ ในกระบวนการ Reverse cholesterol transport (RCT) ซึ่งใช้ Cholesterol ester transfer protein (CETP) เป็นตัวลำเลียง โดยนำคอเลสเตอรอลจาก HDL แลกเปลี่ยนกับไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ใน LDL จึงเกิดความพยายามศึกษาเกี่ยวกับ CETP inhibitor เพื่อเพิ่ม HDL ในเลือด ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้

นอกจากนี้ จากผลจากการวิจัย ความสัมพันธ์ของ HDL กับอัตราการตายมีนัยสำคัญเป็นรูปตัว U หมายความว่า อัตราการตายจะเพิ่มขึ้นเมื่อระดับ HDL ต่ำและสูงเกินไป (HDL สูงกว่า 90 ml/dL) และ HDL ที่สูงไม่ได้เป็นผลต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด อาทิเช่น การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และการเสียชีวิตอื่น ๆ  และยังกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และหลอดเลือด

การสนับสนุนให้เพิ่ม ด วสาเหตุทางพันธุกรรมที่ทำให้ HDL สูง คือการเปลี่ยนแปลงของยีน CETP LIPC และ LIPG จากการศึกษาในคนไทยที่รวบรวมคนไข้ที่มี HDL สูง (มากกว่า 100 mg/dL) พบว่า 1/4 มียีน CETP และ LIPC ผิดปกติ รายงานจากการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า ระดับ HDL สูงจากสาเหตุทางพันธุกรรม ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจลดลง เช่นเดียวกับระดับ HDL ต่ำจากสาเหตุทางพันธุกรรม ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดมากขึ้นเสมอไป

กล่าวโดยสรุป การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เราควรจะมีค่าระดับไขมันทั้ง คอเลสเตอรอลรวม LDL และ HDL อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ค่า HDL ที่สูง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิเช่น พันธุกรรม การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) มากเกินไป การขาดสารอาหาร การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางประเภท และการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังพบว่า ค่า HDL ที่สูงมาก เป็นปัจจัยที่เป็นไปได้ต่อการเกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ดังนั้น สำหรับผู้ที่มี HDLที่มากกว่า 90 mg/dL ควรปรึกษาแพทย์เพื่อสาเหตุและแนวทางแก้ไข

ที่มารูป : healthing.ca

Muscle power

พันธุกรรมที่ส่งผลต่อพลังกล้ามเนื้อ กับประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะกับคุณ – พลังกล้ามเนื้อ (Muscle Power) คือ ความสามารถในการทำงานของกลุ่มกล้ามเนื้อ การยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อในการออกแรงสูงสุด ซึ่งกระทำในระยะเวลาสั้นและไม่เกิดความเมื่อยล้าหนึ่งครั้ง อาทิเช่น ยืนกระโดดไกล การยกน้ำหนัก การวิ่งระยะสั้น และกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องการความเร็วและใช้แรงอย่างมาก จะต้องอาศัยพลังกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ จากงานวิจัยยังพบว่า พลังกล้ามเนื้อเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการมีอายุยืนยาว อย่างมีนัยสำคัญ

กล้ามเนื้อ (Muscle) ทำหน้าที่ในการยืดตัวและหดตัว ช่วยคงรูปร่าง ท่าทาง ยึดข้อต่อต่าง ๆ ภายในร่างกายเข้าด้วยกัน รวมทั้งยังช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคุมการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น การเดิน ยืน นั่ง นอน และการพูด เป็นต้น กล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

    1. กล้ามเนื้อลาย หรือกล้ามเนื้อยึดกระดูก(Skeletal Muscle) ทำงานภายใต้ความคิดของเรา คือ สามารถสั่งการได้ เช่น กล้ามเนื้อ แขน ขา
    2. กล้ามเนื้อหัวใจ ทำงานภายใต้ระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้
    3. กล้ามเนื้อเรียบ ทำงานภายใต้ระบบประสาทอัตโนมัติเช่นกัน พบได้ในทางเดินอาหาร

การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้อลาย) สามารถแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่

    1. Muscle Strength การออกแรงสูงสุด ณ เวลาใด ๆ เป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มบุคคลทั่วไป
    2. Muscle Hypertrophy การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มนักเพาะกาย
    3. Muscle Power การออกแรงสูงสุดอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นการฝึกเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ ในกลุ่มนักกีฬา
    4. Muscle Endurance การฝึกเพื่อฟื้นฟูสภาพของกล้ามเนื้อ และการฝึกเพื่อเพิ่มความกระชับให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิง

การฝึกพลังกล้ามเนื้อ (Muscle Power) เป็นการฝึกความแข็งแรงและกำลังความเร็วของกล้ามเนื้อ มักใช้ฝึกในพวกนักกีฬา หากฝึกความแข็งแรง (Muscle Strength) มาได้ซักระยะหนึ่ง เพราะใช้น้ำหนักค่อนข้างหนักและจังหวะการยกที่ค่อนข้างเร็ว ยกตัวอย่างเช่น กีฬาที่ใช้การทุ่ม พุ่ง ขว้าง การยกน้ำหนัก และการฝึกการเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscle Endurance) ซึ่งเป็นการเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อ ไม่เพียงแค่ยกน้ำหนักหรือใช้แรงต้านในการบริหารกล้ามเนื้อ แต่จะต้องเพิ่มเวลาในการออกแรง รวมทั้งกิจกรรมที่ต้องออกแรงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาทิเช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ไตรกีฬา และอื่น ๆ

พันธุกรรมเกี่ยวข้องกับพลังกล้ามเนื้อโดยเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบของเส้นใยกล้้ามเนื้อ ขนาดกล้้ามเนื้อ และการตอบสนองของฮอร์โมน นอกจากนี้ พันธุุกรรมยังเกี่ยวข้องกับวิธีที่ร่างกายฟื้นตัวและปรับ (จดจำ) เข้ากับการฝึก ซึ่งส่งผลต่อพลังกล้ามเนื้อเมื่อเวลาผ่านไป พันธุกรรม หรือยีนที่มีอิทธิพลต่อพลังกล้ามเนื้อ ยกตัวอย่างเช่น ยีน ACTN3 ซึ่งถูกขนานนามว่า เป็นยีนแห่งความเร็ว “Speed Gene” ยีนดังกล่าวช่วยสร้างโปรตีน Alpha-actinin-3 ซึ่งช่วยในการยืดหดตัวของเส้นใยกล้ามเนื้อได้อย่างรวดเร็วและสามารถทำงานที่มีแรงต้านกับน้ำหนักมากได้ดี จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบ C ที่ตำแหน่ง rs1815739 มีความสอดคล้องกับการมีพลังกล้ามเนื้อที่มากกว่าคนอื่น และมีทักษะเป็นนักกีฬาแถวหน้า (Elite Athletes) ยีน ACT ทำหน้าที่สร้างโปรตีน Angiotensinogen ซึ่งช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและช่วยปรับสมดุลของโซเดียมและของเหลวในร่างกาย ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมประเภท C ที่ตำแหน่ง rs699 สอดคล้องกับการมีพลังกล้ามเนื้อมากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากการฝึกสร้างเสริมพลังกล้ามเนื้อ และยีน DMD ทำหน้าที่สร้างโปรตีน Dystrophin ซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้เส้นใยกล้ามเนื้อ รวมทั้งช่วยในการยืดหดตัวและการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบ T ที่ตำแหน่ง rs939787 จะมีพลังกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเด่นกว่า ความอดทนของกล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงเหมาะกับกีฬาประเภทที่ใช้การออกแรงสูงสุด ที่กระทำในระยะเวลาที่สั้น เช่น วิ่งระยะ 100 เมตร นอกจากนี้ ยีน HIF1A ทำหน้าที่สร้างโปรตีน Hypoxia-inducible factor-1a ซึ่งช่วยควบคุมการแสดงออกของยีนที่ทำงานภายใต้ภาวะออกซิเจนต่ำ โปรตีนชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสลายน้ำตาลเป็นพลังงาน (Glycolysis) รวมถึงการสร้างกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบ T ที่ตำแหน่ง rs11549465 สอดคล้องกับการมีกล้ามเนื้อที่สามารถหดตัวได้เร็วและแรงที่สุดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงเหมาะกับการออกกำลังการที่ใช้พลังกล้ามเนื้อมาก ๆ อย่างรวดเร็ว อาทิเช่น กีฬาวิ่ง หรือว่ายน้ำระยะสั้น นักยกน้ำหนัก และนักมวยปล้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พันธุุกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยพลังกล้ามเนื้อเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนากล้ามเนื้อเช่นกัน

ที่มารูป: MedicalNewsToday

Carbohydrate sensitivity

การตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตกับความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน  – ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมทำให้บางคนรับประทานคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารหวานในปริมาณที่เท่ากัน จะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนอื่น ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

คาร์โบไฮเดรตเป็นหนึ่งในสามของสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย (โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน) คาร์โบไฮเดรต ได้มาจาก แป้ง น้ำตาล และไฟเบอร์ พบในผัก ผลไม้ ธัญพืช และผลิตภันฑ์จากนม คาร์โบไฮเดรตมีความจำเป็นต่อร่างกายด้วยสองเหตุผลหลัก คือ เป็นส่วนช่วยสร้างพลังงานของร่างกาย และเป็นแหล่งของไฟเบอร์ ซึ่งช่วยระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ (kcal) และคาร์โบไฮเดรตจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ 1) คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี (Refined) เช่น ข้าวขาว ขนมปัง เบเกอรี่ น้ำตาลทรายขาว น้ำเชื่อมข้าวโพด และ 2) คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสี (Unrefined) เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ธัญพืช ขนมปังโฮววีท ขนมปังซาวโดวจ์ (Sourdough) เป็นต้น 

การตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรต

บางคนจะมีลักษณะทางพันธุกรรม หรือมียีนที่ตอบสนอง หรือไวต่อคาร์โบไฮเดรต นั่นคือ ร่างกายสามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ดีมาก โดยที่คาร์โบไฮเดรตนั้นตอบสนองโดยตรงต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นเปปไทด์ฮอร์โมน ช่วยร่างกายในการแปลงคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงาน นอกจากนี้ การตอบสนองต่อคาร์โบไฮเดรตยังส่งผลต่อปริมาณการจัดเก็บไขมันในร่างกาย การต้านทานต่ออินซูลิน (ซึ่งมีสาเหตุจากระดับอินซูลินที่สูงในกระแสเลือด) จะส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

พันธุกรรมหรือยีนส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว รวมทั้งความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน และโรคเบาหวาน (Type-2 diabetes) จากการศึกษาวิจัยพบว่า ร้อยละ 70 ของประชากรโลก มียีนที่มีความเชื่อมโยงกับโรคอ้วน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำประชากรทั่วโลก จึงมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยีนที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ยกตัวอย่างเช่น ยีน FTO ซึ่งส่งผลต่อความอยากอาหาร (รวมทั้งแป้งและน้ำตาล) การกลายพันธุ์บางตำแหน่งของดีเอ็นเอสอดคล้องกับความอยากอาหารมากกว่าปกติ ส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน การกลายพันธุ์ของยีน AMY1 ส่งผลต่อความสามารถในการย่อยแป้ง และยีน TCF7L2 ที่ควบคุมการสร้างอินซูลินในตับอ่อน ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมในบางกลุ่มประชากรสอดคล้องกับความไวต่อคาร์โบไฮเดรต (และน้ำตาล) นั่นคือ เมื่อรับประทานทานแป้งหรืออาหารหวานในปริมาณใกล้เคียงกัน จะมีค่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าคนอื่น ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

ในทางการแพทย์สามารถวัดค่าระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดได้ ยกตัวอย่างเช่น การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (กลูโคส) การตรวจระดับน้ำตาล และการตรวจภาวะดื้ออินซูลิน ผลการตรวจจะแสดงค่าระดับระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับคนทั่วไป ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะหมายถึง ภาวะก่อนเบาหวาน คือผู้ที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ระดับปกติแต่ยังไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีความสอดคล้องกับผู้ที่มีความไวต่อคาร์โบไฮเดรตสูง นอกจากนี้ ความไวต่อคาร์โบไฮเดรต ยังสามารถตรวจได้โดยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างคาร์โบไฮเดรตกับลักษณะทางพันธุกรรม (การตรวจโภชพันธุศาสตร์) ซึ่งอาศัยการตรวจดีเอ็นเอในตำแหน่งต่าง  ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการโภชนาการอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ

ค่าดัชนีน้ำตาลในอาหาร (Glycemic Index: GI) และอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ

เป็นค่าที่ใช้บ่งบอกถึงความสามารถของอาหารที่ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตต่าง ๆ (แป้ง น้ำตาล และไฟเบอร์) ว่ามีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใด หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ซึ่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตแต่ละชนิดจะถูกย่อยและถูกดูดซึมเข้าร่างกายในอัตราที่แตกต่างกัน ทำให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นแตกต่างกัน อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น เบเกอรี่ ขนมปังขาว ของหวาน ลูกอม น้ำหวาน ข้าวขาว แตงโม จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงเร็วกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ส่วนอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำจะถูกย่อยช้า ๆ จึงทำให้น้ำตาลกลูโคสถูกปล่อยเข้าไปในกระแสเลือดอย่างช้า ๆ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะขึ้นช้า

อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low carb) และอาหารพร่องแป้ง เป็นการเลือกรับประทานอาหารโดยจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารประเภทแป้งลง โดยจะเน้นทานอาหารกลุ่มโปรตีนเป็นหลัก เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาน้อย เมื่อเราลดการทานแป้งน้ำตาลลงให้มาก ร่างกายจะใช้พลังงานจากไขมันและโปรตีนแทน ทำให้สามารถควบคุมและช่วยในการลดน้ำหนักได้ดี อย่างไรก็ตาม สังเกตด้วยว่า การรับประทานอาหารแบบพร่องแป้งเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อระดับเกลือแร่ในเลือดได้ เช่น ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ หรือภาวะเลือดเป็นกรด ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมและประเมินสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคลจากแพทย์ นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

เทคนิคสำหรับผู้ที่มีความไวต่อคาร์โบไฮเดรต

    • จดบันทึกและควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน (Food logging) ยกตัวอย่างเช่น การใช้แอปพลิเคชัน KinYooDee หากต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อยกว่า ร้อยละ 10 จากพลังงานที่ร่างกายใช้ต่อวัน
    • รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสี ระวังอย่าให้งดการรับประทานโดยสิ้นเชิง
    • รับประทานคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในปริมาณน้อย แต่อาจจะบ่อยครั้งขึ้น
    • ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

DNA methylation

ผลการถอดรหัสพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอทั้งหมดในร่างกาย (Whole genome sequencing) มากกว่า 3,000 ล้านคู่สาย ใช้เวลา 96 ชั่วโมง (4 วัน) โดยใช้เทคโนโลยี Oxford Nanopore โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ DNA methylation ที่เป็นส่วนที่สำคัญของข้อมูลเหนือพันธุกรรม หรืออีพีเจเนติกส์ (Epigenetics) ที่เกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและไลฟ์สไตล์ อาทิเช่น อาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด การนอนหลับ คุณภาพอากาศ ฯลฯ จากขั้นตอน “Native” modified basecalling (5mC) เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประยุกต์ใช้ในการตรวจคัดกรองโรค เช่น มะเร็ ง (ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม) ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น วิเคราะห์ผลการตอบสนองต่อยามุ่งเป้า และตรวจติดตามอาการภายหลังการรักษา

Fat and exercise

การออกกำลังกายสลายไขมัน และปัจจัยทางพันธุกรรม

หากต้องการลดไขมันส่วนเกินในร่างกาย ท่านสามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายระดับปานกลางต่อเนื่องกัน 30 นาที ขึ้นไป และให้ได้อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยที่ 15 นาทีแรกของการออกกำลังกาย ร่างกายจะดึงพลังงานหลัก ไกลโคเจนหรือน้ำตาลกลูโคสที่สะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อไปใช้ (ร่างกายสะสมไกลโคเจนไว้ที่ตับ 100 กรัม และกล้ามเนื้อ 400 กรัม) ซึ่งเป็นพลังงานที่เตรียมไว้ใช้ในเวลาที่เราทำกิจกรรมปกติ เมื่อออกกำลังกายไปได้ 15 – 30 นาที ร่างกายจะรู้สึกว่า กิจกรรมที่ทำ ใช้พลังงานมากกว่าที่เตรียมไว้ ก็จะเริ่มไปดึงแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) มาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสเพื่อใช้เป็นพลังงาน และเมื่อออกกำลังกายต่อเนื่องไปมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป พลังงานที่มีอยู่เริ่มไม่พอใช้ ร่างกายจะดึงพลังงานสำรองซึ่งเก็บไว้ในรูปของ (เซลล์) ไขมันออกมาใช้ ดังนั้น เมื่อออกกำลังนานต่อเนื่อง 30 นาทีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญไขมันมาเป็นพลังงานให้ร่างกายอย่างเต็มที่

สังเกตด้วยว่า 15 นาทีหลังออกกำลังกาย หากมีการรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล (เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำหวาน น้ำผลไม้สด ฯลฯ) ร่างกายจะตรวจพบว่า มีน้ำตาลในแหล่งพลังงานหลักแล้ว ร่างกายก็จะหยุดดึงเอาไขมันมาใช้และหันไปใช้น้ำตาลจากพลังงานหลักทันที ทำให้สูญเสียโอกาสในการเผาผลาญไขมันส่วนเกินในร่างกายออกไป นอกจากนี้ ก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายสะสมพลังงานหลักไว้มากเกินไป ทำให้ช่วงเวลาที่ร่างกายจะดึงไขมันส่วนเกินมาใช้เป็นพลังงานยืดเวลาออกไปอีก นอกจากการออกกำลังกายที่ทำเป็นกิจลักษณะแล้ว การทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีการเคลื่อนไหว อาทิเช่น การเดินช้อปปิ้ง ทำงานบ้าน ตัดหญ้า ทำสวน ฯลฯ การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเหล่า ๆ นี้ ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 30 นาที ก็มีส่วนช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายด้วยเช่นกัน

การลดน้ำหนักหรือลดไขมัน

การลดน้ำหนัก คือ การใช้พลังงานให้มากกว่าที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหาร ในทางทฤษฎีแล้ว 7,000 แคลลอรี่ (kcal) ที่ร่างกายเผาผลาญ น้ำหนักจะลดลง 1 กิโลกรัม โดยที่ 1 กิโลกรัมที่ลดลงไปอาจจะเป็นส่วนของน้ำ กล้ามเนื้อ หรือไขมันในร่างกาย ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่างกายจะดึงพลังงานหลัก (ไกลโคเจนที่สะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ) มาใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจะค่อย ๆ สลายไกลโคเจนที่สะสม มาเป็นพลังงานเรื่อย ๆ จนถึงระดับหนึ่ง จะทำให้น้ำหนักตัวลดได้ และเมื่อร่างกายใช้พลังงานต่อไปอีก (ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมมากกว่า 30 – 60 นาที) จนไกลโคเจนที่สะสมไว้อยู่ในระดับต่ำมาก ร่างกายจะเข้าสู่โหมดการดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงาน ส่งผลให้ปริมาณไขมันในร่างกายลดลง

เทคนิคการลดไขมันในร่างกาย

Key takeaway ควรลดการบริโภคแป้ง น้ำตาล และไขมัน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังกายที่ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อาทิเช่น เวทเทรนนิ่ง (Weight training) ร่างกายจะหลั่งโกรธฮอร์โมนและนอร์อะดรีนาลีน ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไลเปสที่ย่อยสลายไขมันออกมา และควรออกกำลังกายเวทเทรนนิ่ง (30 นาที) เน้นท่าบริหารกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณก้นและต้นขา ท่าแพลงก์ที่ใช้กล้ามเนื้อทั้งร่างกาย หลังจากนั้น หยุดพัก 10 – 15 นาที และตามด้วยการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ที่เน้นเสริมความแข็งแรงของหัวใจและปอด (30 – 60 นาที) อาทิเช่น เดินเร็ว เดินขึ้นบันไดหรือทางชัน วิ่ง เต้นแอโรบิค ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อให้ร่างกายได้หลั่งโกรธฮอร์โมนและเร่งการเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด

พันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับปริมาณไขมันในร่างกายลดลงเป็นพิเศษเมื่อออกกำลังกาย

ผู้ที่ออกกำลังกายบางคนอาจจะพบว่า ระดับไขมันของตัวเองนั้นลดลงเป็นพิเศษ หรือในทางตรงข้าม ออกกำลังกายตามหลักทฤษฎีอย่างสม่ำเสมอ แต่ไขมันส่วนเกินในร่างกายลดลงได้น้อยหรือช้ากว่า เมื่อเทียบกับคนอื่น ความแตกต่างนั้นอาจจะมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม จากการศึกษาด้านพันธุกรรมระหว่างปริมาณไขมันและการตอบสนองต่อการออกกำลังกาย พบว่า ยีน LIPC ที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ Hepatic Lipase ทำหน้าที่ย่อยไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันไม่ดี (LDL) และไขมันดี (HDL) จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีพันธุกรรมแบบ CC ในตำแหน่ง rs1800588 จะมีระดับไขมันดีเพิ่มขึ้นและไขมันไม่ดีลดลงมากกว่าคนอื่น และยีน PPARD ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายไขมันและคาร์โบไฮเดรต ผู้ที่มีพันธุกรรมลักษณะ C ในตำแหน่ง rs2016520 จะมีระดับการลดลงของโคเลสเตอรอลมากเป็นพิเศษ รวมทั้ง ยีน LPL ที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ Lipoprotein Lipase ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีพันธุกรรมลักษณะ G ในตำแหน่ง rs328 จะมีระดับไขมันในร่างกายลดลงมากกว่าคนอื่นเมื่อออกกำลังกาย

จากรูปแบบและวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม รวมทั้งข้อมูลจากพันธุกรรมของยีนที่เกี่ยวข้องกับปริมาณไขมันและการตอบสนองต่อการออกกำลังกาย จะช่วยให้ทราบว่าการออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะกับตัวเองเพื่อลดปริมาณไขมันส่วนเกินในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มารูป: nasm.org

HPV cervical cancer

มะเร็งปากมดลูก และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

จากการศึกษาวิจัยพบว่า 99.7% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก (มะเร็งในเพศหญิงที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม) จะตรวจพบเชื้อไวรัสที่เรียกว่า เอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) นอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังผ่านนิ้วมือ หรือปาก (น้ำลาย) แล้ว ไวรัส HPV สามารถติดต่อได้จากวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค (Non-sexual HPV transmission) อาทิ ผ้าเช็ดตัวที่อับชื้น (หรือที่ถูกผึ่งแห้งแล้วใช้ร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อ) หรือแม้แต่การเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ (น้ำที่ยังไม่ได้ถูกบำบัด หรือบำบัดได้ไม่ดีพอ)

HPV เป็น stable ไวรัส ที่สามารถทนอุณภูมิได้สูง มีความต้านทานต่อน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสามารถอาศัยอยู่ตามวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค หรือพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ (ทั้งเปียกและแห้ง) ได้เป็นระยะเวลาหลายวัน ไวรัส HPV จะทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันมีการตรวจพบเชื้อไวรัส HPV มากกว่า 200 สายพันธุ์ และที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมีมากกว่า 40 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยมี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 (รวมทั้งสายพันธุ์ 31, 33, 45, 52 และ 58) โดยวัคซีนที่ป้องกัน 2 สายพันธุ์นี้ (16 และ 18) สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%

วัคซีนออกฤทธิ์นานเท่าไร

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าระยะเวลาการออกฤทธิ์ของวัคซีน HPV จะอยู่ได้นานเท่าไรหรือจำเป็นต้องฉีดซ้ำเมื่อไร และบ่อยเท่าไร แต่เท่าที่มีข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันรายงานถึงระยะเวลาที่วัคซีนจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสได้นานอย่างน้อย 3-5 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น สังเกตด้วยว่า วัคซีน HPV นั้น ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV เรื้อรัง แต่ไม่สามารถใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัส HPV ในคนที่ (อาจจะไม่ทราบ) ว่ามีการติดเชื้อมาก่อนแล้วได้

โดยทั่วไป การติดเชื้อไวรัส HPV มักเป็นชั่วคราวและหายไปเอง (ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ดีสามารถขจัดออกไปได้เอง โดยใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี) การติดเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นแบบเรื้อรังและทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 – 55 ปี สัญญาณของการติดเชื้อ HPV อาจจะปรากฏในช่วงเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน ปี หลายปี หรือ (บางกรณี) มากกว่า 10 ปีหลังจากได้รับเชื้อครั้งแรก โดยไวรัส HPV ตัวนี้จะใช้เวลาเฉลี่ยราว 5 – 10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อปากมดลูกปกติให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก

สังเกตด้วยว่า ในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HPV มักจะไม่แสดงอาการ และผู้ที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกมีโอกาสในการรักษาหายได้ อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยมักมีอาการบ่งชี้ อาทิ มีภาวะตกขาวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย มีเลือดออกกระปริดกระปรอยขณะที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน มีประจำเดือนมากและยาวนานมากกว่าปกติ มีเลือดออกหลังจากเข้าสู่วัยทอง หรือมีเลือดออกหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลในปี 2560 พบว่า หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 8,184 คนต่อปี (และมีอัตราเสียชีวิตเกิน 50%)

HPV DNA Test

เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV อย่างแม่นยำตั้งแต่เริ่มต้น (Pre-cancer) ทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก HPV DNA Test จะเป็นตรวจหาเชื้อไวรัสกลุ่มเสี่ยง 14 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 99% มีวิธีการตรวจเหมือนตรวจภายใน โดยใช้แปรงนุ่มเล็ก ๆ ป้ายเซลล์เยื่อบุปากมดลูกช่องคลอดด้านใน ส่งตรวจเหมือนวิธีการตรวจด้วยน้ำยา ซึ่งสามารถที่จะตรวจหาเซลล์และแยกน้ำยาเพื่อจะตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสได้ ข้อดีของการตรวจ HPV DNA คือ สามารถตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก สังเกตุด้วยว่า การตรวจพบเชื้อไวรัส HPV ไม่ได้หมายความว่า ท่านจำเป็นต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบไวรัส HPV อาทิเช่น สายพันธุ์ 16 แล 18 หมายถึง ท่านมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก

กล่าวโดยสรุป การให้วัคซีนในเด็กหญิงและผู้หญิงอายุ 13-26 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน และการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด

ที่มารูป: mannatfertility

Osteoarthritis & preventive healthcare

โรคข้อเสื่อม และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

องค์การอนามัยโลกชี้ ไทยสถิติพุ่ง … เข่าเสื่อม ร้อยละ 70 ในผู้สูงอายุ ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในคนไทย มากกว่า 6 ล้านคน – โรคข้อเสื่อม หรือข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) คือ โรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่อยู่บริเวณส่วนปลายของกระดูก เนื้อเยื่อระหว่างข้อต่อกระดูกเกิดการผุกร่อน หรือแตกร้าวออกมา ที่บริเวณปลายของกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะมีกระดูกอ่อน (Cartilage) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือกันชน ช่วยลดการเสียดสีของกระดูกในขณะเคลื่อนไหวของข้อ ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะพบว่า กระดูกอ่อนนี้มีปริมาณน้ำ (Synovial fluid) ลดลง กระดูกอ่อนเสื่อมและผุกร่อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บปวดและบวมของข้อ มักเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป

สาเหตุที่ทำให้ข้อเช่าเสื่อม ได้แก่ เพศ อายุ น้ำหนักตัว พฤติกรรม (กิจกรรม) และพันธุกรรม โดยจะสังเกตเห็นว่า น้ำหนักตัว รวมทั้ง เพศ (หญิง) เป็นปัจจัยหลัก ที่ส่งผลให้มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 3 – 4 เท่า และมีแนวโน้มที่รุนแรงกว่า เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตนเจนในวัยหมดประจำเดือน ทำให้สูญเสียแคลเซียมและคอลลาเจน เกิดสภาวะกระดูกพรุนและกระดูกอ่อนเสื่อม นอกจากนี้ ปัจจัยจากพันธุกรรมมากถึง 40 – 60% ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม จะได้รับกรรมพันธุ์จากทางพ่อและแม่ จากผลการวิจัยพบว่า มียีนจำนวนหลายตัว อาทิเช่น TIMP2 COL9A1 และ IL6R ที่แสดงบทบาทสำคัญในผลิตคอลลาเจน กระดูกอ่อน (Cartilage) และอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin) เมื่อพบการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งของยีนดังกล่าว จะส่งผลให้มีโอกาสในการเกิดโรคข้อเสื่อมและกระดูกพรุนได้มากกว่าคนทั่วไป

การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เริ่มต้นจากการตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเสื่อม เพื่อชะลอหรือลดระดับความเสี่ยงก่อนการเกิดโรค การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึง การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกและข้อเข่า การได้รับแคลเซียม (จากอาหาร) และวิตามินดี (จากแสงแดด) อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงวัยหมดประจำเดือนควรชดเชยฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยการรับประทานเอสโตรเจนจากพืช (Phytoestrogens) ซึ่งพบมากในเมล็ดแฟลกซ์ ถั่วเหลือง งา ธัญพืช ผักใบเขียว บร็อกโคลี่ ผักเคล กระเทียม นอกจากนี้ จากผลการวิจัยยังพบว่า สารอาหารในกลุ่มปกป้องกระดูกอ่อนและป้องกันการอักเสบตามธรรมชาติ (Chondroprotective nutrients) ซึ่งพบมากใน ชาเขียว ผลกุหลาบป่า (Rose hips) ขิง ขมิ้น และทับทิม สามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรคข้อเสื่อม ช่วยรักษาสมดุลเมตะบอลิซึมของสารชีวโมเลกุลภายในกระดูกอ่อน (Cartilage) กระตุ้นให้ร่างกายมีการซ่อมแซมกระดูกอ่อนที่หุ้มผิวข้อให้กลับสู่ปกติ

นอกจากการดูแลเชิงป้องกันด้านโภชนาการแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกและข้อ เมื่อออกกำลังกาย กลไกในร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อซินโนเวียล (Synovial membrane) ผลิตน้ำหล่อลื่นข้อ (Synovial fluid) ออกมามากขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องการเสียดสีของกระดูกข้อต่อและช่วยในการเคลื่อนไหวให้ราบรื่น ในทางตรงกันข้าม การไม่ออกกำลังกาย จะทำให้น้ำหล่อลื่น Synovial fluid ถูกผลิตออกมาน้อยลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเสื่อมสูงขึ้น นอกจากนี้ สังเกตด้วยว่า การออกกำลังกายเพื่อชะลอหรือลดระดับความเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม ควรเป็นการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่น่องขา (Thigh) เพราะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรับน้ำหนักตัวก่อนถ่ายแรงกดต่อข้อเข่า อาทิเช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แอโรบิค โยคะ การเล่นเวท รวมทั้ง การเดิน และวิ่ง Jogging

ที่มารูป: Harvard Health

Alzheimer’s & preventive healthcare

โรคอัลไซเมอร์ กับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

คำบอกจากแม่ กินปลาแล้วฉลาด นั้นอาจจะถูกต้องแล้ว – เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐได้รายงานผลการศึกษาโดยใช้อาสาสมัครจำนวน 7,750 คน และติดตามผลการศึกษาเป็นระยะ 5 – 10 ปี พบว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานปลา เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด (รองลงมาคือ อาหารจำพวกผัก) ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม และควรรับประทานปลาในมื้ออาหาร จำนวนหลาย ๆ ครั้งต่อสัปดาห์

แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ มักจะเกิดกับคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสื่อมของสมองได้เกิดขึ้นหลายปีก่อนหน้านั้น สิ่งที่ทำให้โรคอัลไซเมอร์รักษายากเป็นเพราะมันแสดงอาการช้า โรคนี้จะสร้างความเสียหายแก่สมองเป็นเวลากว่า 10 ปีก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ นอกจากนี้ จากสถิติทั่วโลกยังพบว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะเสียชีวิตหลังเป็นเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี ดังนั้น การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถป้องกันได้ หากคนเราหันมาดูแลสมองกันมากขึ้น

การออกกำลังกายสมอง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน

    • การฝึกสมองในด้าน ความทรงจำ (Memory)
    • การฝึกสมองในด้าน การใช้เหตุผล (Reasoning)
    • การฝึกสมองในด้าน ความเร็วในการคิด (Speed of processing information)

การฝึกการใช้สมองในแต่ละด้านนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่สำคัญ คือ การฝึกให้สมอง Active อยู่ตลอด และฝึกใช้สมองในเรื่องที่ท้าทาย โดยอาจเริ่มจากการฝึกใช้สมองในรูปแบบการทำงานย้อนกลับ (Backward activity) ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ใช้มือที่ไม่ถนัดจับช้อนรับประทานอาหาร ใช้เม้าส์หรือทัชแพดบนโน้ตบุ๊คโดยใช้มือที่ไม่ถนัด ใส่นาฬิกาข้อมือสลับข้าง และการเดินหรือวิ่งถอยหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ การลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม ยังสามารถทำได้โดยการฝึกสมองในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น

    • การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อาทิ การเล่นดนตรี กีฬา หรือเรียนรู้ภาษาใหม่
    • การเล่นเกมที่ถูกออกแบบมาสำหรับการฝึกสมอง เช่น Lumosity และเกมที่มีผู้เล่นหลายคน
    • การเล่นต่อคำ ต่อภาพ Puzzles ในรูปแบบต่าง ๆ
    • การเขียนชุดคำสั่ง หรือป้อนคำสั่งคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Coding)
    • การเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสมอง

การกระตุ้นให้สมองเกิดการใช้งานอยู่อย่างสม่ำเสมอและฝึกฝนในเรื่องท้าทาย จะช่วยลดความเสื่อมของเซลล์สมอง สร้างเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ และช่วยการทำงานของเซลล์สมองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ดีต่อสุขภาพหัวใจก็ดีต่อสมองด้วย – การออกกำลังกายที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic exercise) จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่สมองได้มากขึ้น ซึ่งช่วยในด้านความทรงจำและทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นด้วย รวมทั้งยังช่วยลดความเครียดและช่วยปรับฮอร์โมนต่าง ๆ ของร่างกายให้สมดุล และจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 30%

การตรวจโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์

นอกจากผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมที่แสดงอาการค่อนข้างชัดเจนแล้ว ปัจจุบัน มีวิธีการตรวจโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1) การตรวจดีเอ็นเอ เพื่อใช้ประเมินระดับความเสี่ยง วางแผนการป้องกัน ความถี่ในการตรวจคัดกรอง การเฝ้าระวัง และการแนะนําการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หากพบว่ามีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่ง เช่น rs7412  และ rs63750730 ในยีน APOE ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Apolipoprotein E จะมีความเสี่ยงให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอัลไซเมอร์เป็นกรรมพันธุ์ที่มีการถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมนี้จะเกิดโรคทั้งหมด เนื่องจากยังมีปัจจัยเชิงพฤติกรรม (Lifestyle) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของสมองได้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟู การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ระยะเวลานอนหลับลึกน้อยกว่า 4-5 ชั่วโมงต่อวัน โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคอ้วน และโรคเบาหวาน (Type2 diabetes) จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป

2) การตรวจวัดเบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ในเลือด ซึ่งเป็นคราบเหนียวของโปรตีนที่ผิดปกติ (Amyloid plaques) ที่ไปเกาะอยู่บนเซลล์ประสาทของสมองและทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ชุดตรวจโรคอัลไซเมอร์ด้วยเลือดชนิดนี้ จะช่วยในการคัดกรองผู้คนเพื่อตรวจหาโรคได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวยังต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาแพง มีใช้เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และแปลผล

3) การทำเพทสแกน (PET scan) หรือการสแกนด้วยรังสีเพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมอง และการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap) เพื่อตรวจดูภาวะผิดปกติของโรคอัลไซเมอร์ที่มีความแม่นยำมากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายสูง และมีความเจ็บปวด

ยารักษาโรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ ถูกค้นพบเมื่อปี 1906 เป็นโรคอย่างหนึ่งที่มีการทำลายเซลล์สมองไปเรื่อย ๆ มีอุบัติการณ์ตามอายุที่มากขึ้น ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษา แต่มีการรักษาที่สามารถชะลอการลุกลามของโรค

ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ตัวใหม่ – ในเดือน กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ  ได้อนุมัติการใช้ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ทีมีชื่อว่า “Leqembi” ซึ่งเป็นยากลุ่ม “เลเคนเนแมป” (Lecanemab) เป็นแอนติบอดีที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดคราบเหนียวของโปรตีนพิษ (Amyloid plaques) ด้วยการผูกแอนติบอดีเทียมเข้ากับตัวโปรตีน และผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ในทุกสองสัปดาห์โดยฉีดเข้าเส้นเลือดดำ อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าว ยังคงมีราคาสูงซึ่งประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง ยังถูกอนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเพียงเล็กน้อย ที่ได้รับการยืนยันว่ามีโปรตีนอะไมลอยด์ในสมอง เท่านั้น รวมทั้งยังเป็นเพียงยาชะลออาการความจำเสื่อมของสมอง ยังไม่ใช่วิธีรักษาให้หายขาดได้

ที่มารูป : Psycompro

DNA healthcare

DNA Healthcare by KinYooDee Genomics ชุดตรวจดีเอ็นเอ ที่ถูกออกแบบและพัฒนาเป็นพิเศษสำหรับคนไทย เพื่อการดูแลสุภาพเชิงป้องกัน – จากข้อมูลทางสถิติพบว่า 45% ของค่ารักษาพยาบาล หมดไปกับโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ชุดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากกระพุ้งแก้ม ตรวจพันธุกรรมเพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 11 รายการ
    • Parkinson (พาร์กินสัน)
    • Alzheimer (อัลไซเมอร์)
    • Coronary artery disease (หลอดเลือดหัวใจตีบ)
    • Hypertension (ความดันโลหิตสูง)
    • Stroke (หลอดเลือดสมอง)
    • Thrombophilia (ลิ่มเลือดอุดตัน)
    • G6PD deficiency (พร่องเอนไซม์ G6PD เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ภาวะโลหิตจาง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย)
    • Type-2 diabetes (เบาหวานชนิดที่ 2)
    • Kidney disease (ไตบกพร่อง)
    • Osteoarthritis (ข้อเสื่อม)
    • Insomnia (นอนไม่หลับ)

Microbiome report

ตัวอย่างผลตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้มากกว่า 300 สายพันธุ์ ในแอปพลิเคชัน KinYooDee ดัชนีชี้วัดความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Dysbiosys index) จุลินทรีย์กลุ่มไหน ตัวไหนขาด-เกิน มาก-น้อย ความสำคัญของจุลินทรีย์ที่ส่งผลต่อสุขภาพ (Gut health) การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ชุดตรวจ CE/IVD certified